ธพว.ขายหุ้นกู้ 2.1 หมื่นล้านไตรมาส 3

ธพว.โชว์ฐานะแกร่ง หลังคลังหนุนเติมเงิน-ทุนเต็มที่ เผยเตรียมเปิดอีบิดดิ้งขายหุ้นกู้รัฐค้ำ 2.1 หมื่นล้านบาทใน Q3 ปีนี้ ชี้ต้นทุนต่ำลงราว 50 สตางค์ หนุนแบงก์ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยเอสเอ็มอีได้ยาวขึ้นสูงสุดถึง 10 ปี จากเดิมได้แค่ 7 ปี ส่วนเงินเพิ่มทุน 4 พันล้านบาทจะได้เงินใน Q4 “มงคล” ครบวาระชื่นมื่นยันแบงก์แข็งแกร่ง-ปลื้มกว่า 3 ปีบริหาร NPL ลดต่อเนื่อง ตั้งเป้าสิ้นปีนี้เหลือต่ำกว่า 10% พร้อมส่งไม้ต่อเอ็มดีใหม่ที่คาดจะได้ตัวภายในเดือน มี.ค.นี้

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวก่อนจะครบวาระดำรงตำแหน่ง ว่า ปัจจุบัน ธนาคารมีฐานะแข็งแกร่ง โดยล่าสุดได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำจากกระทรวงการคลัง จำนวน 21,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น โดยจะเริ่มทยอยออกหุ้นกู้เดือนละ 5,000 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปีนี้จนได้วงเงินครบเต็มจำนวน ขณะที่ในไตรมาส 4 ธนาคารจะได้รับเงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังก้อนแรก 4,000 ล้านบาท จากที่ขออนุมัติไว้ทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท ที่เหลือจะเพิ่มทุนให้ในปีถัดไป ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ฐานะการเงินของธนาคารมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น

“จะเริ่มออกหุ้นกู้ในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยจะเปิดประมูลด้วย e-Bidding เป็นหุ้นกู้อายุ 5 ปี มีสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เป็นผู้จัดจำหน่าย ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ทั้งนี้ การที่รัฐบาลค้ำประกันให้ก็จะทำให้ต้นทุนเงินของเราถูกลงได้ประมาณ 50 สตางค์ และที่ผ่านมาเราปล่อยกู้ระยะยาวที่สุดเฉลี่ยที่ 7 ปี โดยเมื่อได้เงินนี้มาก็อาจจะปล่อยได้ถึง 10 ปี” นายมงคลกล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ธพว.ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ถึง 11% ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในส่วนของสินเชื่อปล่อยใหม่ ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบันก็อยู่ระดับต่ำแค่ 3.6% ขณะเดียวกัน ยังตั้งสำรองส่วนเกินกว่า 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารยังเข้มงวดกับการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น โดยไม่ปล่อยให้เป็น NPL ค้างในพอร์ตเกิน 15 ปี หากเกินก็จะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องเรียกหลักประกัน บังคับคดี และขายทอดตลาด

“การบริหาร NPL ในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนว่าการบริหารความเสี่ยงของแบงก์น่าเชื่อถือมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อไปรวมประมาณ 144,000 ล้านบาท เป็น NPL อยู่ประมาณ 3.6% ส่วน NPL ของเก่าปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 14,000 ล้านบาท คิดเป็นราว 14% ซึ่งในไตรมาสแรกนี้เราจะประกาศขาย 3,000 ล้านบาท หลังจากนั้น ก็จะขายออกไปอีก 5,000 ล้านบาท หรือรวมแล้ว 8,000 ล้านบาท ก็จะทำให้เหลือราว 6,000 ล้านบาท หรือ NPL เหลือต่ำกว่า 10% ในปีนี้” นายมงคลกล่าว

สำหรับปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อ 57,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปกติที่ปล่อยเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 30,000 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการคนตัวเล็ก หรือกลุ่มที่มีลูกจ้างไม่เกิน 5 คน มียอดขายไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะมีทั้งการเติมความรู้คู่ทุนให้ โดยธนาคารมีแอปพลิเคชั่น “SME D Bank” เพื่อให้ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องไปสาขา ขณะเดียวกัน ยังมีรถม้าเติมทุน (โมบายยูนิต) อีก 600 คัน ที่อำนวยสินเชื่อได้ 8 ล้านบาทต่อคันต่อเดือน

นายมงคลกล่าวว่า คาดว่ากระบวนการสรรหากรรมการผู้จัดการคนใหม่ ที่ได้ปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้สมัครเข้ามาทั้งสิ้นจำนวน 6 ราย คาดว่าจะได้ตัวกรรมการผู้จัดการคนใหม่เข้ามาสานต่อภารกิจได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยระหว่างนี้ธนาคารได้ตั้งนายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ ให้ทำหน้าที่รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธพว.ไปพลางก่อน

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!