“เรากำลังพยายามจะทำให้ บตท. เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จะใช้ช่วยทั้งผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไปอย่างเต็มที่” นี่เป็นคำกล่าวของ “วสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์” กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ที่เปิดตัวให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ครั้งแรก หลังรับตำแหน่งเมื่อ ต.ค. 2559
ซื้อสินเชื่อบ้าน 4 พันล้าน
โดย “วสุกานต์” เล่าว่า ช่วงแรกการทำงานยังเป็นห้วงเวลาของการ “ปรับกระบวนการภายใน” เตรียมรองรับธุรกรรมที่จะเพิ่มขึ้นหลังกฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับ เรียกง่าย ๆ ก็คือ “เคลียร์บ้าน” นั่นเอง ประจวบกับกระทรวงคลังได้มอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามากำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ทั้งหมดด้วย ทาง บตท.จึงยังไม่มีการซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่เข้ามาเพิ่ม จากปัจจุบันพอร์ตทั้งหมดอยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในปี 2560 นี้ บตท. ตั้งเป้าซื้อพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย 4,000 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารต่าง ๆ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
“ย้อนหลังไป 2-3 ปีที่ผ่านมา บตท. มีการขยายตัวเยอะมาก มีการซื้อพอร์ตเข้ามาปีละเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระบวนการภายใน ยังรองรับได้ไม่เข้มแข็งนัก จึงต้องปรับกันใหม่ ซึ่งครึ่งปีหลังจะเห็นตัวเลขดีขึ้น ส่วนเป้าที่ตั้งไว้ จะพยายามทำให้ได้”
ขณะที่ในด้านการระดมเงินทุน ปีนี้ บตท.จะมีแผนออกตราสารประเภท MBS ประมาณช่วงปลายปี ซึ่งวงเงินจะสอดคล้องกับสินเชื่อที่จะซื้อเข้ามา และขึ้นกับตราสารที่จะครบอายุด้วย
จ้างตามหนี้/เข้มเกณฑ์ซื้อหนี้ดี
“วสุกานต์” ฉายภาพต่อว่า การปรับกระบวนการภายใน มีทั้งการจ้างผู้รับจ้างติดตามหนี้ภายนอก (Outsource) 2 ราย และจะจ้างเพิ่มอีก 2-3 ราย รวมถึงจ้างสำนักงานทนายความอีก 12 บริษัท เพื่อดูแลการฟ้องร้องดำเนินคดีลูกหนี้
โดยเอ็มดี บตท.ยอมรับว่า ปัจจุบัน NPL ของ บตท.เพิ่มขึ้นสูงถึง 13% ซึ่งอธิบายได้ว่า เกิดจากฐานสินเชื่อที่ยังไม่ได้ซื้อเข้ามาเพิ่ม รวมถึง บตท.ยังไม่เคยขายหนี้เสียออกจากพอร์ตนับตั้งแต่ก่อตั้ง เนื่องจากมูลค่าหลักประกันที่มีอยู่ในพอร์ตส่วนใหญ่เกินกว่าวงเงินสินเชื่ออยู่มาก
อย่างไรก็ตาม บตท.ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการและข้อกำหนดการซื้อสินเชื่อให้เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสีย (NPL) ในอนาคต และตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้จะลด NPL ให้เหลือต่ำกว่า 10%
“เรามีการกำหนดเกณฑ์ เช่น Loan to Value (LTV) ว่าต้องไม่เกิน 100% กำหนด Dept to Income ว่ามีรายได้เท่านี้ ควรจะกู้ได้เท่าไหร่ โดยเวลาที่เราซื้อสินเชื่อจากแบงก์ จะเข้าไปดูข้อมูลลูกค้าเป็นรายคน โดยเอาข้อมูลเบื้องต้นมาดูก่อน ซึ่งจะไม่รู้หรอกว่าลูกค้าเป็นใคร เพื่อกรองลูกค้าที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีกำหนดว่าลูกค้าต้องผ่อนชำระมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี”
เสริมทัพผู้บริหาร
นอกจากนี้ บตท. ยังอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างองค์กร โดยได้เสนอกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ซึ่งจะ “เสริมทัพ” ผู้บริหารในตำแหน่งรองกรรมการและผู้จัดการ จำนวน 2 คน และผู้ช่วยกรรมการและผู้จัดการอีก 3 คน ทั้งจากบุคลากรภายในที่มีความรู้ความชำนาญอยู่แล้ว และบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาเติมเต็มให้องค์กรมีความเข้มแข็งมากขึ้น
“ตามโครงสร้าง ต้องมีรอง 2 คน ตอนนี้ยังว่างทั้งคู่ แล้วก็จะมีผู้ช่วยที่ต้องหาเพิ่มอีก 3 คน จากที่มีอยู่คนเดียว ความตั้งใจก็คือ ต้องมีทั้งคนในและคนนอก โดยจะใช้โอกาสคนในเยอะกว่า เพราะคนที่นี่มีความรู้ ซึ่งเมื่อได้คนแล้ว เราจะแบ่งงานให้ดูแล เป็นระบบงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน”
เตรียมพร้อมขยายธุรกรรม
“วสุกานต์” บอกด้วยว่า ปี 2560 นี้ บตท.ครบรอบ 20 ปี ซึ่งจะมีการ “พลิกบทบาท” จากการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ซึ่งจะทำให้มีทางเลือกในการซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น สามารถซื้อจากผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ได้ จากเดิมที่จะซื้อได้แค่จากธนาคารและจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์)
“ที่ผ่านมา บตท.ยังไม่เคยซื้อสินเชื่อจากดีเวลอปเปอร์ ซึ่งอยากจะบุกเบิกตรงนี้ แล้วตัวกฎหมายที่แก้ไข จะทำให้เราสามารถซื้อสินเชื่อของน็อนแบงก์ หรือบริษัทที่รับจำนองที่อยู่อาศัย หรือให้เช่าซื้อ หรือให้เช่าแบบลีสซิ่ง คือให้เช่าระยะยาวได้ เพราะแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเช่าซื้อระยะยาวมากขึ้น ต่อไปคนไม่ได้อยากจะมีบ้านหลังแรกหลังเดียว ดังนั้นเราก็อยากเป็นกลไกที่ช่วยในการหล่อลื่นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ด้านหลัง”
ทั้งนี้ เอ็มดี บตท.กระซิบว่า กำลังทำงานร่วมกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ในเรื่องการซื้อสินเชื่อจากดีเวลอปเปอร์ โดยคาดว่าก่อนสิ้นปีนี้จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ได้ นอกจากนี้ ยังมีการหารือกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เพื่อหาแนวทางสนับสนุนนโยบายบ้านผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลด้วย
นอกจากนี้ เพื่อการพัฒนาองค์กรในอนาคต บตท. ได้มีการให้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เข้ามาศึกษาวิจัยเปรียบเทียบตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ ทั้งเรื่องคุณลักษณะและเครื่องมือการระดมทุน (ฟันด์ดิ้ง) ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย มองโกเลีย และฮ่องกง
เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว บตท.จะสรุป และนำเสนอกระทรวงการคลัง และ ธปท.พิจารณาต่อไป