รัฐ-เอกชนปลื้มอีเพย์เมนต์เกิด ขุนคลังถกปท.อาเซียนเชื่อมคิวอาร์โค้ด

รัฐ-เอกชนปลื้มดันอีเพย์เมนต์สำเร็จ คลังชูเป็นผลงานชิ้นโบแดง เตรียมรายงาน ครม. พร้อมยุติบทบาทคณะกรรมการขับเคลื่อน “อภิศักดิ์” เผยที่ประชุมคลังอาเซียนเตรียมถกความร่วมมือทำ QR code ข้ามแดนร่วมกันคาดได้เห็นในปีนี้ ฟากข้อมูล ธปท.เผยพร้อมเพย์ลงทะเบียนแล้ว 46.5 ล้านเลขหมาย ขณะที่โมบายเพย์เมนต์พุ่งเฉียด 50 ล้านบัญชี ผลพวงจากการผลักดันอีเพย์เมนต์-แบงก์เว้นค่าฟี ด้าน “TMB-กรุงศรี” ชูความสำเร็จโมบายแอปฯ รุก QR code เต็มสูบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เตรียมสรุปความสำเร็จการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย e-Payment รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ว ๆ นี้ และเนื่องจากขณะนี้ระบบต่าง ๆ สามารถเดินหน้าไปได้ในตัวเองแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องพร้อมเพย์ การขยายการใช้บัตรเดบิตและการติดตั้งเครื่องรับบัตร (EDC) การเปลี่ยนระบบบริการชำระเงินของตลาดทุนเป็น T+2 การนำระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ และการจัดสวัสดิการรัฐ รวมถึงกฎหมายภาษี e-Payment ของกรมสรรพากร ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว

เบญจรงค์ สุวรรณคีรี

“น่าจะมีการยุติบทบาทของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เพราะตอนนี้ระบบทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว แต่ละหน่วยงานสามารถรันต่อไปได้เอง โดยคลังก็คงรายงาน ครม. จบภารกิจไป ซึ่งเรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบ e-Payment นี้ ถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลเลยทีเดียว เห็นได้จากปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ในการประชุม รมว.คลังอาเซียน ต้นเดือน เม.ย.นี้ จะมีการเจรจาความร่วมมือทำ QR code เป็นยูนิเวอร์แซลในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยที่ผ่านมาได้หารือเบื้องต้นแล้วกับ 3-4 ประเทศ อาทิ กัมพูชา อินโดนีเซีย ซึ่งธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะร่วมมือกันในการเชื่อมระบบเพื่อให้สามารถใช้ QR code ข้ามประเทศกันได้ คาดจะเห็นได้ในปีนี้

“หลังจากที่เราทำพร้อมเพย์ออกมาเป็นพื้นฐานของระบบเพย์เมนต์ในประเทศไทย และทำให้ไทยก้าวหน้าสุดเรื่องเพย์เมนต์ในอาเซียน จึงทำ QR code ตามมาด้วย ถ้าเชื่อมระบบเข้าด้วยกันได้ ก็จะทำให้ใช้ QR code ที่ไหนก็ได้ในอาเซียน แต่ละประเทศก็จะได้ประโยชน์ ไม่มีใครเสียเปรียบใคร เรียกว่า win-win ทุกฝ่าย” รมว.คลังกล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ธปท. ณ 31 ธ.ค. 2561 มีการลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้ว 46.5 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นเลขบัตรประชาชน 29.3 ล้านเลขหมาย เบอร์โทรศัพท์มือถือ 16.8 ล้านเลขหมายเลขทะเบียนนิติบุคคล 71,000 เลขหมาย และหมายเลข e-Wallet 304,000 เลขหมาย ซึ่งยอดการใช้งานมีปริมาณเฉลี่ย 4.5 ล้านรายการต่อวัน มูลค่าเฉลี่ย 5,000 บาทต่อรายการ โดยเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อเดือนในปี 2561

ขณะที่การใช้ mobile payment มีจำนวน 47 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจาก 21 ล้านบัญชีในปี 2559 ซึ่งการแข่งขันของภาคธนาคารถือว่ามีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น จากการลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามธนาคารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านมา

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ME by TMB ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ME by TMB ดำเนินงานมาครบ 7 ปี ซึ่งผลการดำเนินงานเติบโตในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้ามากกว่า 360,000 บัญชี โดยลูกค้าเพิ่มเฉลี่ยปีละ 22% ซึ่งที่ผ่านมาได้จ่ายดอกเบี้ยไปแล้วกว่า 4,490 ล้านบาท โดยก้าวต่อไปของ ME ตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 20% และมีฐานลูกค้าแตะ 800,000 บัญชีภายใน 5 ปี ซึ่งจะมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้า “Gen D” หรือคนที่มีประสบการณ์กับดิจิทัลและชอบใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นประจำ ไม่เกี่ยวกับอายุและอาชีพ

ซึ่งในไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าการเปิดบัญชีแบบผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) จะได้รับการอนุมัติออกจากการทดสอบใน regulatory sandbox ของ ธปท. เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีธนาคารผ่านแอปพลิเคชั่นได้ด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว จากนั้นในช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ ME ได้เตรียมเปิดให้บริการชำระเงินด้วย QR code

“การพัฒนาดิจิทัลแบงกิ้งของไทย โดยเฉพาะโมบายแบงกิ้งนั้นเติบโตเร็วมากจนได้รับการจัดให้สัดส่วนการเข้าถึงโมบายแบงกิ้งเป็นอันดับที่ 1 ในโลก หลังจากเปิดให้บริการพร้อมเพย์ และแบงก์ต่างลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม ทั้งนี้ การมีผลิตภัณฑ์เงินฝากดิจิทัลใหม่ ๆ นำเสนอออกมา จะทำให้ตลาดดิจิทัลแบงกิ้งของเมืองไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น และเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้ใช้ดิจิทัลอย่างแท้จริง” นายเบญจรงค์กล่าว

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กรุงศรี โมบาย แอปพลิเคชั่น หรือ “KMA” ประสบความสำเร็จมากในปีที่ผ่านมา สะท้อนจากตัวเลขผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.5 ล้านราย ปริมาณธุรกรรมสูงถึง 1,000 ล้านรายการใน 1 ปี หรือเพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบกับปีླྀ ด้วยสถิติยอดธุรกรรมสูงสุดถึง 7,000 รายการต่อนาที คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมรวมกว่า 500,000 ล้านบาท

ส่วนในปี 2562 นี้ ตั้งเป้าหมายขยายฐานผู้ใช้งาน KMA เพิ่ม 2 เท่าเป็น 5 ล้านราย ซึ่งจะได้แรงหนุนทั้งจาก e-KYC และบริการสแกน PromptPay QR code เพื่อชำระเงินค่าสินค้าได้ในประเทศญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในเดือน เม.ย.นี้