มหากาพย์ สงครามการค้า

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สยาม ประสิทธิศิริกุล บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

นับจากต้นปีที่แล้วจนถึงขณะนี้ เศรษฐกิจของโลกก็ยังคงมีความตึงเครียด อันเกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยทั้งสองฝ่ายมักจะตอบโต้กันด้วยมาตรการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น และเพิ่มรายการสินค้าที่ถูกเก็บภาษี ตลอดจนการกำหนดแนวนโยบายการค้าการลงทุนระหว่างกัน จนถูกมองว่าเป็นเสมือนสงครามการค้าได้เกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะมีความพยายามเจรจากันเป็นระยะ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าที่จะยุติในเร็ววัน ซึ่งสงครามการค้านี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกกันเลยทีเดียว เพราะสามารถส่งผลลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ได้อย่างเป็นวงกว้าง เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกันผ่านห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยเราที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่การผลิตของจีน

ก่อนอื่นผมขอเล่าที่มาที่ไปของสงครามการค้านี้ ให้ท่านได้เข้าใจและพอเห็นภาพกันนะครับ จากที่ประธานาธิบดี ทรัมป์ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องของประเทศสหรัฐ ซึ่งนำไปสู่การกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ปรากฏชัดเจนออกมาเรื่อย โดยเฉพาะกับประเทศที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐมาก ๆ หรือทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าในระดับสูง ซึ่งก็คือ ประเทศจีน และสงครามก็ได้เริ่มต้นขึ้นจากการที่สหรัฐเปิดศึกด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 30% และเครื่องซักผ้าที่ 20% ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าจากจีน โดยพี่จีนก็ไม่อยู่นิ่ง โดยสวนกลับด้วยการตรวจสอบสหรัฐเรื่องการทุ่มตลาดและการอุดหนุนราคาข้าวฟ่าง ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักที่สหรัฐส่งออกให้จีน

เป้ง…ยกสอง เริ่มด้วยสหรัฐประกาศจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กที่ 25% และอะลูมิเนียมที่ 10% จีนสวนกลับด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐร้อยกว่ารายการ ที่ 15-25%

เป้ง…ยกที่สาม สหรัฐประกาศรายชื่อสินค้าจีนที่จะเก็บภาษีนำเข้ากว่าพันรายการ ที่ 25% แล้วยังตามด้วยการตรวจสอบเรื่องประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของจีน และเสนอตั้งข้อจำกัดการลงทุนของจีนในสหรัฐ จีนโต้กลับเช่นกันด้วยรายชื่อเก็บภาษีสินค้าสหรัฐจำนวนอีกร้อยรายการ ที่ 25% ยกต่อ ๆ ไป ก็ต่างปล่อยหมัดกันและกันด้วยต่างฝ่ายต่างประกาศรายชื่อสินค้าจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมออกมาเรื่อย ๆ โต้กันไปมา เรียกว่าตาต่อตา ฟันต่อฟัน แอนตาซิลแจกไม่อั้นจริง ๆ ครับ ต่างคนต่างเจ็บไปตามกัน แม้ว่าจะมีการเปิดเจรจากันหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันการเจรจาก็ยังมีความไม่แน่นอน และมองว่าอาจต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะบรรลุข้อตกลงระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ โดยล่าสุดทรัมป์ได้กล่าวในการแถลงนโยบายประจำปีว่า ข้อตกลงการค้ากับจีนจะต้องรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่แท้จริง ทั้งการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ การยุติการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีที่จีนได้กำหนดขึ้นสำหรับบริษัทต่างชาติที่มีโรงงานการผลิตในจีน และการควบคุมเงินอุดหนุนของจีนสำหรับอุตสาหกรรมของรัฐที่ทำให้จีนได้เปรียบทางการแข่งขันทางธุรกิจ

พี่ยักษ์ใหญ่เขา “ฟัด” กัน แล้วไทยเราล่ะครับ โดนหางเลขอะไรยังไง

โดยเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยเราต้องเจอกับผลกระทบเชิงลบจากสงครามการค้านี้ จากการที่เราส่งออกไปที่ตลาดจีนลดลงจากการมีส่วนร่วมในสายพานการผลิตของจีน อย่างไรก็ตาม ยังพอมีปัจจัยเชิงบวกจากโอกาสการขยายการค้าการส่งออกเพื่อไปทดแทนสินค้าที่เคยนำเข้าระหว่างสหรัฐและจีน และก็ยังมีการส่งออกสินค้าบางรายการที่มีการสั่งสินค้าเพิ่มจากความกังวลของการเพิ่มภาษีนำเข้าของทั้งสองประเทศ เห็นได้ว่าจะมีผู้ผลิตที่ได้กับเสีย ต่างกลุ่มกัน ซึ่งกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการขยายการค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ส่วนกลุ่มที่เสียประโยชน์จะเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทวัตถุดิบ หรือสินค้าที่ใช้ประกอบการผลิต เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา เม็ดพลาสติก

ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจในภาวะเช่นนี้อาจต้องปรับตัวหาตลาดใหม่เพิ่ม หรือมองหาโอกาสที่เกิดขึ้นด้วยการเป็นสินค้าทดแทน ซึ่งคงต้องอาศัยการติดตามอย่าง ใกล้ชิด เพราะสงครามการค้านี้จะยังคงยืดเยื้ออีกสักพักใหญ่ ไม่จบง่าย ๆ หรอกนะครับ