ระดมสมองปั้นตลาดทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ตลท.นัดถก 27 มี.ค.นี้ หวังใช้ปี’63

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภายในวันที่ 27 มี.ค.62 นี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทั้งหน่วยงานภาครัฐ, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ธนาคารพาณิชย์, บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน, ผู้ระดมทุน, ผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian), นักบัญชี (Accountant) และฟินเทคร่วมหารือเพื่อสร้างตลาดทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบแล้วเสร็จภายในปีนี้ และพร้อมให้บริการในปี 2563

ทั้งนี้จะเป็นการสร้างวงจรธุรกิจ ซึ่งต้องวางบทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กรว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง และวางแผนในการทำธุรกิจอย่างไร ซึ่งจะแตกต่างจากเดิมที่ทำให้ทุกคนมีน้ำหนักในการตัดสินใจที่ไม่เหมือนกัน โดยจะมี Party แต่ละ Party ทำหน้าที่คนละหน้าที่กัน ซึ่งเป็นตลาดที่จะสร้างขึ้นมาขนานกับตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบัน

โดยกระบวนการที่ตลาดหลักทรัพย์วางแผนไว้คือ ดำเนินการตั้งแต่การรับลูกค้าเข้ามาอยู่ในระบบ การออกโทเคนหรือเรียกว่า “Asset Tokenization” ระบบในการรับคำสั่งซื้อขาย ระบบในการทำ Settlement และการเก็บรักษาทรัพย์สิน ซึ่งกระบวนการในการเก็บรักษาทรัพย์สินจะเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในระบบอีโคซิสเต็มใหม่ครั้งนี้

“ในอนาคตเราจะเห็นระบบอีโคซิสเต็มที่ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น และมีหลายบทบาทที่จะเข้ามาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์, ธนาคาร, ผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินดิจทัล, ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินหนุนหลัง เช่น หุ้น, รูปภาพ, ก.ล.ต.รับไฟลิ่งสินทรัพย์ดิจิทัล, ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตลาดแรกในการระดมทุน, ปปง.หรือหน่วยงานเข้ามาดูการฟอกเงิน, บริษัทหลักทรัพย์, บริษัทจัดการกองทุน ซึ่งสำคัญมากที่จะทำให้เกิดคอมมูนิตี้ ที่ได้รับความน่าเชื่อถือและปลอดภัย จึงต้องมีกระบวนการในการกำกับดูแลในเรื่อง Governance โดยต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย”

ตลาดหลักทรัพย์เปิดโอกาสในสิ่งใหม่ๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันอาจจะยังทำไม่ได้ ซึ่งสอดรับกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ที่เปิดให้เกิดการแข่งขัน เพียงแต่ต้องมีแพลตฟอร์มที่สามารถให้คนเข้ามาแข่งขันอย่างเสรี และนักลงทุนหรือคนที่ได้ประโยชน์สามารถเลือกได้

“เราตั้งใจทำเฮียริ่งเพื่ออยากจะรับฟังว่าใครสนใจทำเรื่องอะไรบ้าง ไม่จำเป็นว่าทำแล้วต้องซ้ำซ้อน ที่น่าสนใจมากกว่าคือ ทำแล้วจะเชื่อมต่อกันอย่างไร” นายภากรกล่าว

อย่างไรก็ดีตลาดหลักทรัพย์ฯจำเป็นจะต้องขอใบอนุญาต (License) เนื่องจากต้องทำทุกอย่าง และถือเป็นหนึ่งใน Player ถึงแม้ว่าโครงสร้างทั้งหมดจะทำเพื่อให้นำนวัตกรรมเหล่านี้มาวาง แต่อย่างผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ที่เป็นฟังก์ชั่นสำคัญ ถ้าเกิดไม่มีใครทำจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้นตลาดหลักทรัพย์จะต้องมีฟังก์ชั่นเหล่านี้รองรับอยู่ด้วย เพียงแต่ว่าจะทำเองหรือหาพาร์ตเนอร์เข้ามา
“เราไม่จำเป็นต้องรีบขอ License อาจจะทดลองเป็น Sand Box ก็ได้ ขึ้นอยู่กับทางกฎหมายของ ก.ล.ต.” นายภรกล่าว

นายกิตติ สุทธิอรรถศิลป์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ในอนาคต Digital Tokens จะมีหลายรูปแบบ ทำอย่างไรให้หุ้นในประเทศมีขนาดเล็กลง แทนที่จะให้บริษัทไปแตกพาร์ หรือการลงทุนในหุ้น ETF ต่างประเทศ หรือการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่มาออกเป็น Tokens เพื่อจะทำให้ช่องทางในการระดมทุนเข้าถึงผู้ลงทุนง่ายขึ้น

“กระบวนการเหล่านี้จะต้องผ่านการพูดคุยกับ Stakeholder ก่อน ประกอบกับอยากจะหา Business Case ที่ใหญ่มากกว่านี้ ที่จะทำให้เกิดลักษณะ Innovation หรือเป็น Disruption ซึ่งเป็นโอกาสใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาดหุ้นไทย เชื่อว่าน่าจะเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ผ่านการระดมสมองจากทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทย เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้กับตลาดทุนไทย” นายกิตติกล่าว

นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เข้าไปเจรจาความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ลาว (Lao Securities Exchange : LSX) เพื่อหาแนวทางการนำหลักทรัพย์ของทั้ง 2 ประเทศซื้อขายระหว่างกัน เช่น การนำ DR ที่อ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ลาวมาซื้อขายในไทย หรือการนำ DR ที่อ้างอิง ETF หุ้นไทยไปซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์ลาว

“เราเริ่มทำ DR ที่อิง ETF ของตลาดหุ้นเวียดนามมาขายในตลาดหุ้นไทย ปรากฏว่าปริมาณการซื้อขายของ ETF เวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 30% โดยมองว่าตลาดหลักทรัพย์ลาวเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจ เพราะหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นลาวมีแค่ 9 ตัว การออก DR อิง ETF ของไทยไปขายก็จะเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับนักลงทุนที่ลาว หรือออก DR อิงหุ้นลาวมาขายที่ไทย ก็จะช่วยเพิ่มวอลุ่มได้ ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์ที่ดีทั้งสองตลาด คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในเร็วๆ นี้” นายภากรกล่าว