คำต่อคำ “ขุนคลัง” ไขทุกปมร้อน

ในพิธีเปิดสำนักงานผู้แทน กรุงพนมเปญ กัมพูชา ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK เมื่อช่วงวันที่ 7-10 มี.ค. 62 ที่ผ่านมา “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีดังกล่าว พร้อมให้สัมภาษณ์คณะสื่อมวลชนในทุกปมร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ มานำเสนอดังนี้

Q : ทำไมคลังต้องเพิ่มทุนในดีลธนาคารทหารไทย และธนชาต

คลังจำเป็นต้องเข้าไปรักษาสิทธิสัดส่วนการถือหุ้นไว้ โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทย (TMB) เพราะหากไม่ซื้อหุ้นตาม คลังจะยิ่งขาดทุนจากการลงทุนมากขึ้น เพราะหุ้นเดิมที่ถืออยู่ก็จะถูกไดลูตลง (มูลค่าของหุ้นเดิมลดลง) ก็จะกลายเป็นผู้ทำความเสียหายกับรัฐ

อีกอย่างถ้าใส่เงินเพิ่มทุนเข้าไป ก็จะทำให้ต้นทุนในหุ้น TMB ที่คลังถืออยู่จะลดลงเหลือ 3 บาทต้น ๆ จากต้นทุนที่คลังถือ TMB อยู่ที่ 3.80 บาท/หุ้น แต่หากเพิ่มทุนในที่สุดเมื่อเฉลี่ยแล้ว “ถูกลง” และเมื่อเป็นแบงก์ใหม่ที่มีศักยภาพที่ดีขึ้น และมีความสามารถในการหารายได้ที่ดีขึ้น ก็จะทำให้หุ้นราคาขึ้นไปอีก ซึ่งก็จะไป 2 ทาง คือ ต้นทุน (คลัง) ลด ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นในตลาดก็ขึ้นในที่สุด ก็ต้องขายเมื่อได้กำไร โดยจะเป็นการขายในตลาดหุ้น

“แต่ถ้ามีต่างชาติสนใจ หรือกลุ่มใหญ่ที่สนใจจะลงทุน ก็โอเคจะขายเป็น lot ได้ อย่างที่บอกหลายครั้งแล้วว่า การลงทุนในทหารไทย มันไม่ใช่ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่จำเป็นต้องลงทุน ซึ่งครั้งที่แล้วที่ลง (ทุน) ไป เป็นเพราะว่าจำเป็นที่ต้องรักษาความมั่นคงของสถาบันการเงิน”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การควบรวมของ 2 แบงก์นี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบฐานะหนี้สินและทรัพย์สิน (ดิวดิลิเจนซ์) ซึ่งจะต้องรอผลเพื่อกำหนดราคาหุ้นเพิ่มทุนกี่บาท และต้องเพิ่มทุนมากหรือน้อย ซึ่งหากไม่ทันเสนอรัฐบาลชุดนี้ ก็จะต้องไปเสนอให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจ

ส่วนแหล่งเงินก็จะผสมผสานจากกองทุนวายุภักษ์และเงินจากคลัง โดยหลังจาก 2 แบงก์นี้รวมกันจะมีขนาดสินทรัพย์ใหญ่อันดับ 6 เท่าเดิม แต่สินทรัพย์ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าตัว อยู่ที่ราว 1.9 ล้านล้านบาท คือถ้าอยู่ในขนาดที่ใกล้เคียงกันแล้ว (กับอันดับ 5) ก็จะอยู่ที่ฝีมือแล้วว่าจะทำกันได้แค่ไหน

Q : คลังยังมีกฎหมายอะไรที่ค้างอยู่

มีแต่ของเก่าที่พยายามทำให้จบ ซึ่งกฎหมายหลัก ๆ ก็ออกมาได้เยอะแล้ว จะมีบางอันที่ติดค้างอยู่ และคิดว่าจำเป็นที่อยากจะได้ 2-3 กฎหมาย แต่ก็ทำไม่ทันแล้ว เช่น e-Business ที่อยากจะให้เกิด เพราะถ้าไทยไม่สามารถเก็บภาษีของ e-Business ได้ ในที่สุดแล้วคนที่อยู่ข้างล่างที่ทำธุรกิจปกติ ก็เสียเปรียบกว่าคนที่อยู่ข้างบน

อีกอันที่อยากให้ออก คือ กฎหมายทรัสต์ ที่ส่งไปตั้ง 6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ขยับไปไหน ถ้าไม่มีกฎหมายตัวนี้ก็จะทำให้คนที่มีเงิน ต้องการให้ทรัสต์มาดูแล ก็ต้องออกไปสิงคโปร์บ้าง ออสเตรเลียบ้าง เราก็ไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้รั่วไหลไป

“อีกอันที่ยังค้างอยู่ ภาษีลาภลอย ที่ยังอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา ซึ่งมีหลายออปชั่นที่จะโมดิฟายได้”

Q : เห็นว่ามีการประชุมร่วมกับ JBIC ในช่วงต้นเดือน

เจบิก เป็นที่ปรึกษาของรถไฟความเร็วสูง (เส้นที่เชื่อม 3 สนามบิน) ซึ่งได้นำข้อเสนอแนะของผู้ลงทุนมาเยอะแยะไปหมด จึงบอกเจบิกไปว่า ข้อแนะนำของคุณถ้าเป็นรัฐบาลของคุณเอง จะทำได้ตามข้อเสนอแนะไหม เขาก็บอกทำไม่ได้ ผมจึงบอกว่าทำไม่ได้แล้ว ทำไมถึงคิดว่าประเทศไทยจะด้อยพัฒนา จะสั่งอะไรก็สั่งได้ จึงให้เขากลับไปดูใหม่ เพราะประเทศไทยก็มี CG (ธรรมาภิบาล) ทุกอย่างจะต้องเดินตามหลักการที่ถูกต้อง

แต่ก็มีอีกเรื่อง คือ การส่งเสริม SMEs โดยเจบิกจะมีโปรแกรมส่งเสริมให้ SMEs ของญี่ปุ่น มาลงทุนในประเทศไทยก็จะมาช่วย โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ซึ่งก็เสนอให้ทำร่วมกับแบงก์ไทย อาจจะทำให้ขยายตัวได้มากขึ้นเพราะแบงก์ไทยรู้ลูกค้า รู้สถานที่

“ตอนนี้ที่เขาทำอยู่ ก็มีร่วมกับสถาบันการเงินหลายแห่ง จะให้ในรูปแบบ สินเชื่อพิเศษ ดอกเบี้ยต่ำ”

อีกเรื่องที่เจบิกเล่าให้ฟัง คือ เรื่องของการศึกษา “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทซิตี้” ซึ่งทำการศึกษาให้ไทย ได้ดูโนว์ฮาวที่ไม่ใช่เฉพาะของญี่ปุ่น แต่เป็นของทุกแห่งในโลกที่ทำแล้วสำเร็จและดีที่สุดจากสแกนดิเนเวีย ซึ่งตนก็ได้ขอให้เจบิกเสนอให้กับทางฝั่ง EEC ถ้าเห็นแม่บทของคนอื่นทำได้สำเร็จอย่างไร ก็น่าจะง่ายสำหรับประเทศไทยที่จะวางแนวทางที่จะส่งเสริมไปทางไหน

Q : ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้ลดลง

คนที่มีรายได้น้อยมีหนี้มาก ก็แสดงว่าเขาเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มาก มีโอกาสกู้ได้ แต่การกู้ก็สร้างความเสี่ยงให้กับระบบเศรษฐกิจ อย่างที่แบงก์ชาติคิดก็ถูก แต่ต้องแยกแยะนโยบายของรัฐบาลนี้ ต้องการให้ประชาชนมีบ้านอยู่อาศัย ซึ่ง ธอส. ปล่อยกู้บ้านให้กับคนเหล่านี้ เพราะคนเหล่านี้สมควรจะมีบ้าน เพราะราคาบ้านขนาดนี้ เขายังพอสมควรซื้อได้ แต่ไปอีก 10 ปี ราคาบ้านวิ่งไปแล้ว ถึงตอนนั้นก็ซื้อไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลนี้คิด อยากจะให้เขามีบ้าน ซึ่งส่วนนี้ก็ทำให้เพิ่มหนี้ครัวเรือนขึ้นมา

“เวลาดูหนี้ครัวเรือนจะต้องแยก ถ้าเป็นหนี้สำหรับที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งที่จำเป็น ถือเป็นหนี้ครัวเรือนที่มีคุณภาพดี แต่ว่าถ้าเป็นหนี้ครัวเรือนประเภทกู้ไปใช้ซื้อมอเตอร์ไซค์ โทรศัพท์ แบบนี้ไม่ค่อยดี คือใช้ไปก็หมด รายได้ไม่เกิด ความเป็นอยู่ก็ไม่เกิด แต่หนี้ที่ซื้อบ้าน ก็เหมือนกับมีรายได้ เพราะเช่าอยู่แล้ว เปลี่ยนมาเป็นผ่อน แล้วได้ทรัพย์สินมา”

อีกส่วนที่หนี้เพิ่มขึ้น คือ หนี้นอกระบบ ที่หลาย ๆ ส่วนถูกแปลงมาเป็นหนี้ในระบบ ซึ่งปัจจุบันหนี้นอกระบบเยอะมาก แล้วคุณจะเก็บหนี้พวกนี้ไว้ใต้พรมหรือ เพราะฉะนั้น เราเอาขึ้นมาช่วยเขา ก็กลายเป็นหนี้อยู่ในระบบ

ขณะที่หนี้อีกส่วนหนึ่งที่ควรจะเห็นลดลง คือ หนี้ที่กู้ในชื่อสินเชื่อส่วนบุคคล ที่เปลี่ยนจากกู้ส่วนบุคคลไปหมุนธุรกิจ แต่ก็โอเค ถ้าทำธุรกิจ เพราะฉะนั้น เวลาวิเคราะห์หนี้ส่วนบุคคลต้องวิเคราะห์ให้ละเอียด ซึ่งเรื่องนี้สศค.เคยวิเคราะห์ละเอียดตอบโจทย์ให้เมื่อปลายปีที่แล้ว

“หนี้ครัวเรือนเยอะไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไม่ดี ผมถามคนที่พูด(ธปท.) ก็ไม่ได้บอกว่าจะลดหนี้ยังไง ทั้งที่เป็นคนคุมสินเชื่อทั้งระบบในไทย ซึ่งคุมสินเชื่อนี้มาตั้งนานแล้ว ปล่อยยังไงให้มันสูงขึ้นมา และสูงแล้วจะทำยังไง”

ส่วน NPL (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) 3-4% เวลาขึ้นก็เพราะภาวะเศรษฐกิจด้วย ถ้าสามารถทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นมาได้ ธุรกิจดีมีรายได้ NPL ก็ลดลง

Q : ดอกเบี้ยขึ้นเป็นภาระคนผ่อนบ้าน

ผมถึงว่านี่เป็นประเด็น ธปท.ไปขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (1.75%) ทำไม ถ้าบอกว่าเป็นห่วงหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล แบงก์ก็ปรับขึ้นดอกเบี้ย MRR (ดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย) เพราะเป็นดอกเบี้ยที่แบงก์บีบได้ เพราะลูกค้ารายย่อย และเอสเอ็มอี ที่ไม่มีทางไป แต่แบงก์ไม่แตะลูกค้ารายใหญ่เลย กลัวลูกค้ารายใหญ่หนีหมด

“สังเกตดูนะ ตั้งแต่ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมา แบงก์ขึ้นดอกเบี้ยรายย่อย (MRR) กระทบลูกค้ารายย่อยหมด เกิดความเหลื่อมล้ำรายย่อยและรายใหญ่ แล้วเขาอ้างว่าเหลื่อมล้ำเยอะ แล้วคุณทำอย่างนี้ ไม่ยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้นหรือ”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!