ชงบอร์ด”คปภ.”ปลดล็อกแบงก์ โดดบริการประกันลูกค้าเวลท์นอกสาขา

คปภ.ชงบอร์ดคลอดแนวปฏิบัติ “แบงก์แอสชัวรันซ์” ให้บริการลูกค้าเวลท์ “นอกสาขา” คาดมีผลบังคับภายในสิ้นเดือนมี.ค. 62 ระบุฝั่งแบงก์ต้องทำเอกสารหลักฐานคำร้องขอจากลูกค้าชัดเจนก่อนออกให้บริการนอกสถานที่ พร้อมระบุสถานที่และเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เข้าข่ายรบกวนลูกค้า พร้อมย้ำกรณีขายประกันนอกสาขา กฎหมายยังคงห้ามเหมือนเดิม

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คปภ.เตรียมเสนอแนวปฏิบัติตามประกาศเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่กับทางคณะกรรมการ (บอร์ด) บริหารของ คปภ. ภายในเดือน มี.ค. 62 นี้ หลังจากได้ปิดการรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) การจัดทำร่างของแนวปฏิบัติสำหรับทุกช่องทางการขายแล้ว ซึ่งต่อไปจะทำให้กระบวนการในการปฏิบัติเกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางขายประกันผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์)

“ก่อนหน้านี้ช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์มีปัญหา ฝั่งแบงก์หลายแห่งก็ถามกันเข้ามาว่า ทำแบบนั้นแบบนี้ได้ไหม เช่น สาขาไปเปิดบูทขายประกันข้างนอกจะได้ไหม คปภ.จึงต้องวางแนวปฏิบัติออกมาให้ ซึ่งจากการหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมธนาคารไทยและสมาคมประกันชีวิตไทย เสนอให้พนักงานแบงก์ออกไปบริการหลังการขายแก่ลูกค้าเวลท์ได้” นายสุทธิพลกล่าว

นายอรรถพล พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการสายตรวจสอบคนกลางประกันภัย สำนักงาน คปภ. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อปลายเดือน ก.พ. 62 คปภ.ได้มีการส่งเอกสารข้อมูลเรื่องดังกล่าวเพื่อทำเฮียริ่งจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน

และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทยซึ่งกำหนดให้ตอบกลับมาภายในวันที่ 1 มี.ค.นี้ซึ่งขณะนี้ คปภ.ได้รวบรวมข้อมูลจากการเฮียริ่งแล้วได้ข้อสรุปกำหนดว่า ให้พนักงานแบงก์สามารถออกไปให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ลูกค้าเวลท์เป็นการส่วนตัว และบริการนอกสาขาได้ แต่จะต้องเป็นการร้องขอโดยชัดแจ้งจากลูกค้า และแบงก์จะต้องพิจารณาการให้บริการที่เหมาะสมทั้งสถานที่และช่วงเวลาเข้าพบลูกค้า ที่จะไม่เป็นการรบกวนด้วย โดย คปภ.จะมีการออกแนวปฏิบัติตามประกาศเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ได้ทันที

“กล่าวคือแบงก์จะต้องจัดทำเอกสารหลักฐานคำร้องขอจากลูกค้าเพื่ออนุญาตให้พนักงานออกไปให้บริการลูกค้าต่อเนื่อง หลังจากซื้อประกันผ่านสาขาไปแล้ว เช่น กรณีที่ลูกค้าต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงผู้รับผลประโยชน์ หรือต้องการข้อมูลอื่น ๆ เป็นต้น สำหรับลูกค้าเวลท์ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยไปสาขา อาจจะไปสถานที่อื่นเป็นการส่วนตัว ซึ่งกำหนดด้วยว่าจะต้องเป็นลูกค้าเดิมอยู่ก่อนแล้วด้วย ไม่ใช่ออกไปหาลูกค้ารายใหม่เพื่อแข่งกับช่องทางขายอื่น ๆ” นายอรรถพลกล่าว

อย่างไรก็ดี คปภ.มีการกำหนดคุณสมบัติของลูกค้าเวลท์ที่จะได้รับบริการเป็นการส่วนตัวนั้น จะต้องมีค่าเบี้ยประกันชีวิตต่อครอบครัวตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป โดยคำนวณเบี้ยประกันชีวิตรวมทั้งสัญญาหลักและสัญญาเพิ่มเติม และต้องมีมูลค่าสินทรัพย์ภายในการจัดการ ทั้งเงินฝากและกองทุนรวมทุกประเภท จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท โดยนับรวมของบุคคลในครอบครัว ทั้งคู่สมรสและลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

“ตัวเลขดังกล่าวทางสมาคมประกันชีวิตไทยได้จัดทำค่าเฉลี่ยของเบี้ยประกันผ่านช่องทางตัวแทนและช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ เพื่อแยกตลาดให้ชัดเจน และลดปัญหาการแข่งขันซึ่งกันและกัน” นายอรรถพลกล่าว

ส่วนเรื่องของการนำเสนอขายโปรดักต์ประกันนอกสาขาแบงก์นั้น นายอรรพลกล่าวย้ำว่า ขณะนี้กฎหมายยัง “ห้ามขาย” อยู่