ตัวแทนเถื่อนฉกลูกค้าประกันรถ โตเกียวมารีนแก้เกมแจ้งต่ออายุล่วงหน้า

โตเกียวมารีนฯเตือน ! ระวังตัวแทน/นายหน้าเถื่อนหลอกขายประกันรถยนต์ทางโทรศัพท์ ชูผลประโยชน์สุดคุ้ม แถมผ่อนถูก พร้อมชี้แจง คปภ.ระบุไม่ได้เป็นตัวแทนนายหน้าคู่สัญญากับบริษัท จับมือคู่ค้า-ดีลเลอร์รถติดตามงานต่ออายุ แจ้งลูกค้าล่วงหน้า 6 เดือน

นายไพชยนต์ สุธีรพงศ์พันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.โตเกียวมารีนประกันภัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาว่าได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่อ้างตัวเป็นตัวแทน/นายหน้าของบริษัท เพื่อเสนอขายประกันภัยรถยนต์ โดยให้สิทธิประโยชน์เป็นคูปองน้ำมันและผ่อนจ่ายเป็นรายงวดได้นั้น ก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้เข้าไปชี้แจงกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แล้ว โดยระบุว่าตัวแทนนายหน้ารายนี้ “ไม่ได้” เป็นตัวแทน/นายหน้าคู่สัญญากับบริษัท

“เรายังพบอยู่หลายเคส แต่อาจจับตัวตนได้ยาก เพราะส่วนใหญ่หลบหนีและไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งถ้ากฎหมายฉ้อฉลประกันภัยออกมามีผลบังคับใช้ในครึ่งปีหลังนี้ ก็ต้องมาเช็กว่าจะดำเนินการอย่างไร” นายไพชยนต์กล่าว

ขณะนี้บริษัทและพันธมิตรคู่ค้าอย่างมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ได้ตั้งทีมประสานงานร่วมกัน โดยมิตซูบิชิยินยอมให้บริษัทเข้าไปช่วยติดตามการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของลูกค้ามิตซูบิชิ เพื่อให้การบริการเกิดความคล่องตัวและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจต่อเนื่อง เช่น การซ่อมหรือซื้ออะไหล่จากบริษัทมิตซูบิชิโดยตรง ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้ามิตซูบิชิรายใหม่เข้ามาประมาณ 6-7 หมื่นรายต่อปี

อย่างไรก็ดี บริษัทยังเป็นพันธมิตรกับดีลเลอร์ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ อาทิ โตโยต้า, อีซูซุ, ซูซูกิ, ฮอนด้า, นิสสัน, ฮุนได, เมอร์เซเดส-เบนซ์ และยังมีโบรกเกอร์จากทางบริษัทมิตซูบิชิหลาย ๆ รายที่ช่วยติดตามและต้องการให้บริษัทส่งไปเตือนลูกค้าล่วงหน้า 6 เดือน สำหรับการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์

“เราพยายามรักษางานต่ออายุประกันรถจากฐานลูกค้าเดิม เพื่อลดต้นทุนจากการรับประกันลูกค้ารายใหม่ ซึ่งปีที่แล้วงานต่ออายุเพิ่มขึ้นมาประมาณ 2% จากระดับ 60%” นายไพชยนต์กล่าว

สำหรับภาพรวมปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 8,904 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากปี 2560 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากยอดขายรถยนต์ใหม่เติบโตสูงแตะ 1.1 ล้านคัน ทำให้ช่องทางธุรกิจดีลเลอร์ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (dealer & finance) ของบริษัทโตกว่า 17% ถือเป็นช่องทางหลักที่มีสัดส่วน 50% และธุรกิจพันธมิตร J-Biz (เครือข่ายบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในไทยและกลุ่มประเทศแม่น้ำโขง) มีสัดส่วน 40% ส่วนตัวแทน/นายหน้าโบรกเกอร์ อยู่ที่ 6% ส่วนที่เหลือมาจากช่องทางอื่น ๆ อาทิ ผ่านธนาคารกรุงศรีราว 3% และอีก 1% มาจากประกันภัยรถยนต์ออนไลน์

นายไพชยนต์กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ โดยภาพรวมยอดขายรถยนต์ใหม่อาจจะเติบโตประมาณ 3-4% เพราะฐานปีที่แล้วสูงมาก แต่เชื่อว่ายังมีลูกค้าบางกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ ส่วนยอดขายประกันรถยนต์ขณะนี้หลายบริษัทเป็นห่วงต้นทุนค่าอะไหล่และค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 3% ต่อปี รวมทั้งค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนบริษัทอย่างน้อย 6%

“การแข่งขันด้านราคาจะน้อยลง ทุกค่ายต้องหันมาโฟกัสความอยู่รอดของธุรกิจ เพราะฉะนั้นอาจจะเห็นการปรับราคาขึ้นบ้างเพื่อให้ตอบสนองกับต้นทุน ซึ่งปัจจุบันลอสเรโชประกันรถยนต์ทั้งตลาดสูงถึง 70% ในขณะที่ลอสเรโชประกันรถยนต์ของบริษัทอยู่ที่ 65% คาดว่าสิ้นปีนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 60% จากการบริหารต้นทุนและขอความเห็นใจจากพันธมิตรในบางเรื่องที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงพยายามรักษางานในมือ” นายไพชยนต์กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการรับประกันภัยรถยนต์อยู่ที่ 50% และประกันภัยที่ไม่ใช่รถ (น็อนมอเตอร์) อยู่ที่ 50% โดยขณะนี้บริษัทกำลังยื่นขออนุมัติ คปภ.เปิดขายประกันภัยอีเวนต์ (event cancellation insurance) ซึ่งหากได้รับการอนุมัติก็พร้อมให้บริการทันที ส่วนโครงการประกันภัยสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อ แบ่งตามประเภทของรถ เช่น เครื่องจักรกลทางการเกษตร, รถยนต์โดยสารส่วนบุคคล และรถปิกอัพ ขณะนี้กำลังหาพันธมิตรเพิ่ม โดยปีที่แล้วมีเบี้ยประกัน 680 ล้านบาท เติบโต 10%

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!