เกาะกระแสแนวโน้มอีคอมเมิร์ซปี 2562

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์

สวัสดีครับ ผมขออัพเดตสถานการณ์อุตสาหกรรมการค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซของประเทศไทยในปี 2562 ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาอีคอมเมิร์ซทำให้เกิดการค้าแบบไร้พรมแดน วันนี้การค้าขายไม่ได้อยู่เพียงแค่ในประเทศเท่านั้น

อินเทอร์เน็ตได้ทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่าย ๆ ผ่านสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และแท็บเลต ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกบนอีคอมเมิร์ซ มีมูลค่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังมีส่วนช่วยขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยให้ขยายตัวมากขึ้น

จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยในปีนี้ จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท เติบโต 12-13% จากปีก่อนที่มีมูลค่าตลาดรวมราว 3 ล้านล้านบาท จากตัวเลขที่ขยายเพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านล้านบาทนี้ ทำให้ไทยขึ้นแท่นเป็นผู้นำในการซื้อขายออนไลน์ในตลาดอาเซียน ตามด้วยมาเลเซียและเวียดนามตามลำดับ

ปัจจัยการเติบโตดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ และรู้วิธีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเองก็ได้พัฒนาบริการซื้อขายออนไลน์ทั้งในรูปแบบเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ให้สามารถซื้อและขายสินค้าได้สะดวก เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค ได้ง่ายและรวดเร็ว และอีกตัวแปรสำคัญ คือ การเข้ามาขยายฐานการตลาดของกลุ่มผู้ให้บริการเว็บไซต์กลางสำหรับรวบรวมสินค้าและร้านค้าไว้บนระบบออนไลน์ หรือ “มาร์เก็ตเพลซ” จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีทั้ง LAZADA, Shopee และ JD.com ให้ผู้บริโภคชาวไทยได้เลือกซื้อสินค้าได้สะดวกสบาย

ดังนั้น ผมจึงมีคำแนะนำจากผู้รู้ในแวดวงอีคอมเมิร์ซ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งบริษัทตลาดดอทคอม และอดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย มาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย นำไปใช้เพื่อปรับตัวและพร้อมรับการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับธุรกิจของตนเอง อันดับแรก ผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนาแบรนด์สินค้าจากออฟไลน์เข้าสู่ออนไลน์ด้วยการมีเว็บไซต์หน้าร้านของตนเอง ไปพร้อมกับพัฒนาสินค้าเข้าไปสู่การขายบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่ผู้คนนิยมใช้ในขณะนี้ และที่สำคัญ คือ การนำสินค้าของตนเองไปเป็นส่วนหนึ่งใน 3 แพลตฟอร์มใหญ่ คือ LAZADA, Shopee และ JD.com เนื่องจากทั้งสามค่ายนี้ มีการทุ่มงบประมาณในการทำการตลาดจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าออนไลน์ อาทิ การส่งเสริมการตลาดด้วยการใช้พรีเซ็นเตอร์ ตามมาด้วยการแข่งขันด้านการตลาดในรูปแบบโปรโมชั่น double day เช่น วันที่ 11 เดือน 11 หรือวันที่ 12 เดือน 12 เพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าออนไลน์ เนื่องจากพฤติกรรมคนไทยนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านมาร์เก็ตเพลซ เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือซื้อผ่านเว็บไซต์ของแบรนด์ และโซเชียลมีเดีย เป็นอันดับสาม

เมื่อประตูการค้าได้เปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะมีสินค้าหลากหลายทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน เข้ามาทำตลาดไทยมากขึ้น หรือที่เรียกว่า cross border ปัจจุบันสินค้าที่จำหน่ายอยู่บนมาร์เก็ตเพลซ มีจำนวนกว่า 50 ล้านชิ้น โดยร้อยละ 80 เป็นสินค้าจากจีน และร้อยละ 20 เป็นสินค้าของคนไทย จะเห็นได้ว่าสัดส่วนสินค้าไทยยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับสินค้าจากจีน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นได้ด้วยการพัฒนารูปแบบสินค้าใหม่ ๆ ให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดผู้ซื้อให้มากขึ้น

การที่ผู้ให้บริการจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา ยังช่วยยกระดับ ตลอดจนพัฒนาบริการและส่งเสริมระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซให้ขยายตัวมากขึ้น เช่น บริการคลังสินค้า บริการขนส่งสินค้า รวมถึงบริการระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับการช็อปปิ้ง ทำให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ ปัจจุบันกลุ่มผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลซได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรสถาบันการเงินเพื่อต่อยอดธุรกิจ ด้วยการนำเสนอบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนมือถือ หรือ e-Wallet เพื่อเพิ่มความง่ายและสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคมากขึ้น เช่น LAZADA Wallet และ Dolfin Wallet ซึ่งให้บริการภายใต้ JD.com

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว และง่าย ต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น และบริการกระเป๋าเงินบนมือถือนี้ จะเข้ามามีส่วนสำคัญที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นต่อเนื่องในอนาคต

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!