“สมคิด” ดึงรัฐวิสาหกิจตีปี๊บผลงานโค้งสุดท้าย ระบุ 4 ปีเข็นออกมาเพียบ

“สมคิด” ดึงรัฐวิสาหกิจตีปี๊บผลงานโค้งสุดท้าย ระบุ 4 ปีเข็นออกมาเพียบ แนะพรรคการเมืองไม่ต้องคิดนโยบายใหม่แค่สานต่อก็พอ

วันนี้ (18 มี.ค.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้จัดประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติขึ้น โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งภายในงานได้ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

รวมถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บมจ. ปตท. มากล่าวถึงผลงานในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลชุดนี้

นอกจากนี้ ยังมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มาพูดถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มาพูดภาพการลงทุนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย

โดยนายสมคิด กล่าวว่า ในการจัดงานนี้ขึ้นมา มาจากที่ตนได้คุยกับ รมว.คลัง ว่าถึงเวลาแล้วที่พูดอะไรบางอย่างออกมา โดยให้คนที่ทำงานจริง ๆออกมาพูดถึงผลงานช่วง 4 ปี ว่าได้ทำอะไรไปบ้าง เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

โดยเฉพาะในการปฏิรูปประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ไม่เพียงปล่อยสินเชื่อเกษตรกร แต่มีบทบาทปฏิรูปภาคเกษตรด้วย หรือ ธนาคารออมสิน ก็ไม่ใช่แค่มีบทบาทด้านการออมอย่างเดียว แต่มีหน้าที่ช่วยสร้างอนาคตให้คนตั้งตัวได้ โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทช่วยเอสเอ็มอี ที่ช่วยกันได้ดีทุกแบงก์ในยุคนี้ ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็มีบทบาทอย่างมากในโครงการบ้านล้านหลังที่ช่วยให้คนไทยมีบ้าน

ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็มีผลงานอย่างชัดเจนในช่วงรัฐบาลนี้ โดย ร.ฟ.ท. มีการขยายเส้นทางรถไฟถึงราว 900 กิโลเมตรในช่วงรัฐบาลชุดนี้ จากก่อนหน้านี้ ในช่วง 68 ปีที่ผ่านมา ขยายไปได้แค่ 700 กิโลเมตร ส่วน ร.ฟ.ม. ก็มีการลงทุนรถไฟฟ้าถึง 8 สาย มูลค่าลงทุนกว่า 6.5 แสนล้านบาท จากก่อนปี 2557 ที่มีการลงทุนแค่ 4 สายเท่านั้น

นอกจากนี้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านกลไกสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ทั้งนี้ การที่มีบางพรรคการเมืองมาบอกว่า 4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเสียหายมาก ต้องรีบมาฟื้นฟู อยากถามว่าฟื้นฟูอะไร เพราะมีแต่ตนที่ต้องมาฟื้นฟูให้นักการเมืองที่ว่า

“ผ่านมา 4 ปี ก็ยังมีคนบอกว่า รัฐบาลไม่ได้ทำอะไร ฉะนั้น อยากให้ สคร. ทำเอกสาร แจกผู้สื่อข่าว และส่งไปให้พรรคการเมืองทั้งหมดด้วยให้ไปอ่าน ว่าอย่าไปเสียเวลาออกนโยบายที่มีอยู่แล้ว เอาแค่มาสานต่อก็พอแล้ว” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า การขับเคลื่อนประเทศต้องประกอบด้วย มือ 2 ข้าง คือ นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง โดยฝรั่งจะบอกว่านโยบายการเงินต้องเน้นเสถียรภาพ ส่วนนโยบายการคลังต้องมีวินัย ซึ่งมือทั้ง 2 ข้างต้องไม่พายกันไปคนละทาง

“ผมหวังว่า ในอนาคตข้างหน้า แขน 2 ข้างจะไปด้วยกัน เราต้องมั่นใจว่า เรามีสมอง ไม่จำเป็นต้องเดินตามก้นฝรั่ง แต่เราต้องเดินไปตามสิ่งที่เราคิด และเห็นว่าเหมาะกับประเทศไทย” นายสมคิดกล่าว

ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า นายสมคิด ต้องการให้จัดประชุมวันนี้ขึ้น หลังจากที่ได้รับฟังการหาเสียงของบรรดานักการเมืองต่าง ๆ จนทำให้ดูเหมือนรัฐบาลนี้ไม่ได้ทำอะไร ทั้ง ๆที่สิ่งที่พรรคการเมืองบอกว่าจะทำ ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำมาแล้ว ในหลาย ๆเรื่อง

อย่างการให้แบงก์ของรัฐทำหน้าที่สนับสนุนนโยบายรัฐช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และช่วยผู้มีรายได้น้อยให้พ้นความยากจน

“ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จริง ๆกระทรวงการคลังมีนโยบายหลัก ๆอยู่ 3 เรื่อง คือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตตามศักยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และการรักษาวินัยการเงินการคลัง ซึ่งทุก ๆอย่างที่กระทรวงการคลังเดิน เราเดินเกาะ 3 เรื่องนี้ทั้งนั้น และ 3 เรื่องนี้ก็ตรงกับยุทธศาสตร์ชาติ” นายอภิศักดิ์กล่าว

รมว.คลัง กล่าวว่า ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำนั้น ตัวที่เห็นชัดที่สุด ก็คือ การจัดให้มีบัตรสวัสดิการ ซึ่งทำให้รู้ได้ว่า ใครคือคนที่จำเป็นต้องได้รับการเข้าไปช่วยเหลือโดยรัฐ แต่ก็มีคนหาว่าไปแจกเงินอย่างเดียว แต่จริง ๆแล้ว แนวคิดที่ทำเรื่องนี้ไม่ใช่การแจกเงิน อาจจะมีการให้บางส่วน เป็นสวัสดิการบางส่วน เพื่อบรรเทาทุกข์ให้เท่านั้น

“หัวใจของบัตรสวัสดิการอยู่ที่การจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้สามารถพัฒนาตัวเอง แล้วพ้นจนได้ ซึ่งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ที่ทำในช่วงประมาณ 6 เดือน ทำให้คนที่เคยมีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี พ้นจนขึ้นมาได้” รมว.คลังกล่าว

นอกจากนี้ นโยบายเรื่องบัตรสวัสดิการ ยังต้องการช่วยเหลือร้านค้าโชห่วยที่ได้รับผลกระทบจากโมเดิร์นเทรดด้วย ซึ่งผลออกมาค่อนข้างดี เพราะ 4-5 หมื่นราย สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ จากที่กำลังจะปิดตัวก่อนหน้านี้

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ และช่วยผลักดันให้งานต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจดำเนินการได้อย่างราบรื่น รวมทั้งสนับสนุนรัฐวิสาหกิจให้สามารถพัฒนาคุณภาพการให้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนต่อไป ซึ่งได้แบ่งรัฐวิสาหกิจทั้ง 8 แห่ง เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และกลุ่มพลังงาน โดยสามารถสรุปการรายงานความคืบหน้าในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

1.กลุ่มสถาบันการเงิน มีบทบาทต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นกำลังหลัก
ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและหนี้นอกระบบ รวมทั้งยังได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินได้รายงานผลการดำเนินงานของโครงการที่สำคัญ เช่น

กรุงไทย

– การวางระบบ Digital Payment Super Highway ทุกตำบลทั่วประเทศตามนโยบาย MOF 4.0 เพื่อผลักดันสู่สังคมไร้เงินสด

– โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในรูปแบบ e – Wallet สำหรับคนไทย 14 ล้านคน ร่วมกับ ธกส. และออมสิน ทำให้สามารถกระจายความช่วยเหลือถึงมือประชาชนได้แล้วกว่า 76,000 ล้านบาท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และจะขยายไปสู่ Mobile Application รวมทั้ง สร้าง Digital Platform ให้ร้านค้าประชารัฐสร้างเงินหมุนเวียนกว่า 30,000 ล้านบาท

– การวางโครงสร้างระบบของการจ่ายเงินในระบบการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า และรถโดยสารระหว่างจังหวัด

– การสนับสนุนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาโดยการต่อยอดสร้างกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบดิจิทัล

ออมสิน

– โครงการ National e-Payment รองรับสังคมไร้เงินสด โดยมีผู้ลงทะเบียน 2.75 ล้านราย มีจุดชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 1.95 แสนจุดทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการ Mobile Banking 5.4 ล้านราย และผู้ถือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ 6.6 ล้านราย

– การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ผ่าน 3 กลไก ได้แก่ 1) การสร้างความรู้/อาชีพโดยการส่งเสริม
และสนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ 2) การสร้างช่องทางตลาดเพื่อสร้างรายได้โดยการเพิ่มจุดค้าขายทั้ง Online และ Offline และ 3) การสร้างประวัติทางการเงินผ่านการใช้ธุรกรรมทางการเงินโดยให้รับชำระเงินผ่าน QR code

– โครงการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้านการเงินและอาชีพ 502,586 ราย และแก้ไขปัญหา
หนี้นอกระบบ ซึ่งมีผู้มีบัตรฯ ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 258,725 ราย

– แผนงานส่งเสริมผู้ประกอบการ SME/Startup โดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ SMEs การให้สินเชื่อ GSB SMEs/Startup และการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน Venture Capital

ธ.ก.ส.

– การสนับสนุนการจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ข้าว และยางพาราผ่านการให้สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน และการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตร SMEs ผ่านโครงการ SMAEs

– การพัฒนาผู้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ลงทะเบียน โดยมีการให้ความรู้ทางการเงิน การผลิต
และการตลาด รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรการและการพัฒนาอาชีพของผู้มีบัตรฯ

ธอส.

– โครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งเป็นสินเชื่อบ้านเพื่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ
มียอดจองทั่วประเทศกว่า 127,000 ล้านบาท

– โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ มีโครงการช่วยเหลือผู้ที่อยู่อาศัยในจังหวัดชายแดนภายใต้และโครงการช่วยเหลือประชาชนผู้ปฏิบัติหน้าที่รับราชการให้มีบ้าน

ธพว.

– การให้สินเชื่อผู้ประกอบรายย่อยผ่านโครงการคนตัวเล็กรวมมากกว่า 64,037 ราย จำนวน 157,617 ล้านบาท

– การยกระดับขีดความสามารถให้ SMEs ขนาดเล็ก ผ่านการจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ปีละมากกว่า 5,500 ราย โดยเป็นพี่เลี้ยงด้านการบัญชีและการเงิน และด้านการตลาดให้กับ SMEs

2. กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยการลดต้นทุนการขนส่งคนและสินค้าผ่านการพัฒนาระบบการขนส่งทางราง ของ รฟท. และโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของ รฟม. ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีโครงการสำคัญที่สามารถผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น

รฟท.

– การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปี 2561 มีทางรถไฟ 4,044 กม. เป็นทางคู่ 357 กม. มีเป้าหมาย
ในปี 2566 มีทางรถไฟ 4,360 กม. เป็นทางคู่ 2,464 กม. และรถไฟความเร็วสูง 473 กม. โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่

o โครงการรถไฟทางคู่ จำนวน 14 เส้นทาง ได้รับอนุมัติแล้ว 8 โครงการ และจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2567

o โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ทางรถไฟช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร- นครพนม (แล้วเสร็จปี 68) และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (แล้วเสร็จปี 66)

o รถไฟความเร็วสูง จำนวน 2 สาย ได้แก่ กรุงเทพ-นครราชสีมา (แล้วเสร็จปี 66) กรุงเทพ-อู่ตะเภา (แล้วเสร็จปี 66)

o โครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดง ประกอบด้วย สายบางซื่อ-รังสิต สายบางซื่อ-ตลิ่งชัน (แล้วเสร็จปี 64) สายรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สายตลิ่งชัน-ศาลายา สายตลิ่งชัน-ศิริราช (แล้วเสร็จปี 66) สายบางซื่อ-หัวลำโพง และสายบางซื่อ-หัวหมาก (แล้วเสร็จปี 67)

– ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการอนุมัติเส้นทางรถไฟไปแล้ว 900 กม. ซึ่งสูงกว่าการพัฒนาเส้นทางรถไฟในช่วง 68 ปีที่ผ่านมาที่พัฒนาไปเพียง 700 กม.

รฟม.

– การพัฒนารถไฟฟ้าตามแผนแม่บทการขนส่งทางราง 10 เส้นทาง โดยในปี 2572 จะมีระยะทางรวม 504 กิโลเมตรปัจจุบัน มีโครงการรถไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติและอยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่

o สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค (อยู่ระหว่างดำเนินการวางระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถ)

o สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (PPP) (อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา)

o สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง (PPP) (อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา)

o สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (งานโยธา) และช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ (PPP) (อยู่ระหว่างเสนอ ครม. อนุมัติโครงการ)

o สายสีม่วง (ตอนล่าง) ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (อยู่ระหว่างจัดทำร่างรายงาน PPP)

– นอกจากนี้ มีแผนงานที่จะพัฒนารถไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ในจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก และอุดรธานี

3. กลุ่มพลังงาน เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดยในปัจจุบัน ปตท. มีโครงการที่สำคัญ เช่น การจัดหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการใช้พลังงานในประเทศ

โดยการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อีกทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบสถานีบริการให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนและส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชนและ SMEs