โบรกเกอร์พาเหรดสู่ถนนดิจิทัล ควงฟินเทคปั้นโมเดล “โซเชียลเทรดดิ้ง”

ปีนี้เป็นอีกปีที่โบรกเกอร์งัดกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อเดินเข้าสู่สนามดิจิทัล หรือแพลตฟอร์มเทรดหุ้นกันคึกคัก หลังจากปีที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต่างมุ่งเน้นดึงเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) และ machine learning เพื่อเปิดประตูการลงทุนให้แก่นักลงทุนเข้าถึงได้รวดเร็ว คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบเทรดหุ้นเอง ท่ามกลางภาวะการแข่งขันของโบรกเกอร์ที่ยังคงหั่นค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) สำหรับการซื้อขายหุ้น รูปแบบเดิม ๆ ที่อาจจะไปต่อไม่ไหว เพราะหั่นจนแทบจะเข้าเนื้อตัวเองแล้ว ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาจะช่วยลดต้นทุนได้มาก และยังเพิ่มประสิทธิภาพต่อตัวบริษัทและตัวลูกค้าได้อย่างดีด้วย

ล่าสุดโบรกเกอร์เริ่มจับมือกับฟินเทค นำบริการดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “social trading” ที่ให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นตามบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการซื้อขายหุ้นได้

โดยรายแรก บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST “ชาตรี โรจนอาภา” รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท ได้กล่าวเปิดตัวแพลตฟอร์มการลงทุนโฉมใหม่ เรียกว่า “KTBST SOCIAL TRADING” ให้บริการบนแอปพลิเคชั่น Skynet Stock Trading โดยบริการดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ที่มีปุ่มให้ผู้ใช้กดติดตามบุคคลที่สนใจ

“ชาตรี” เล่าว่า คนที่อ้างตัวเป็นกูรู เพื่อแนะนำนักลงทุนที่ติดตาม (ฟอลโลว์) ทำการ “ซื้อหุ้น” บางตัว ขณะเดียวกันก็ยากจะรู้ว่ากูรูคนนั้น มีการเคลื่อนไหวหุ้นที่แนะนำอย่างไรอยู่ในเวลานั้น ๆ บางครั้งแนะนำหุ้นมา 10 ตัว และเกิดหุ้นตัวหนึ่งราคาปรับตัวขึ้นมา อาจมี “เคลม” ว่าเป็นไปตามที่กูรูนั้นคาดไว้ ดังนั้น KTBST จึงนำระบบ KTBST SOCIAL TRADING มาให้บริการ ซึ่งจะมีฟังก์ชั่น follower (ผู้ติดตาม) และ master (ผู้ให้ข้อมูล) ซึ่งระบบนี้จะให้นักลงทุนที่เป็นผู้ติดตาม มาสเตอร์ที่ตนเองสนใจ ก็จะทำให้เห็นการเคลื่อนไหวอย่างเรียลไทม์ว่า มาสเตอร์นั้นกำลังซื้อ/ขาย หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งเทรดดิ้งอยู่

“เมื่อระบบเห็น master มีการส่งคำสั่งซื้อขาย ตัว follower จะได้รับสัญญาณแจ้งเตือนมา และสามารถเลือกเข้าไปดูจะกดปุ่มเพื่อซื้อ/ขาย หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งตาม master หรือไม่ตามก็ได้ ซึ่งระบบ KTBST SOCIAL TRADING จะมีให้เลือก 2 แบบ คือ เทรดแบบ manual trade หรือเลือกเทรดอัตโนมัติ เกาะตามไปกับ master ทุกธุรกรรม ด้วยฟังก์ชั่นนี้ นักลงทุนสามารถเห็นข้อมูลว่า กูรูหรือมาสเตอร์เหล่านี้ทำการซื้อขายหุ้นเหล่านั้นจริง” นายชาตรีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ระบบ KTBST SOCIAL TRADING ยังอยู่ในช่วงให้ “ทดลอง” ซื้อขายผ่านตลาดหุ้นจำลอง หรือที่เรียกว่า “Skynet Stock Demo” เท่านั้น โดยขณะนี้ระบบดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับเกณฑ์ปฏิบัติและการกำกับดูแล อาทิ ค่าฟี เป็นต้น ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดังนั้น น่าจะเห็นความชัดเจนภายในครึ่งปีแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทประเมินในเบื้องต้นว่าจะมีผู้สนใจใช้บริการราว 200-300 คน

ขณะที่ บล.เออีซี (AEC) ได้จับมือกับบริษัท แคปปิตอล ทรัสต์ กรุ๊ป ลิมิเต็ด (CTG) ที่เป็นฟินเทคสัญชาตินิวซีแลนด์ นำเทคโนโลยีฟินเทคที่เรียกว่า “Proprietary Trading” มาใช้ในการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่ง Proprietary Trading ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการซื้อขายหลักทรัพย์โดยตรงของบัญชีโบรกเกอร์ แบบที่คนทั่วไปเข้าใจกัน แต่หมายถึง “โซเชียลเทรดดิ้ง” ที่มีการซื้อขายตามเทรดเดอร์ (trader) ที่เป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุน โดยนักลงทุนสามารถ “ก๊อบปี้” โมเดลของเทรดเดอร์ต้นแบบ ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ของ CTG มีผู้มาใช้บริการแล้วราว 1 พันราย

โดย “ชนะชัย จุลจิราภรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AEC กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำระบบให้บริการผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนเร็ว ๆ นี้ ซึ่งลูกค้าที่ใช้บริการ “Proprietary Trading” จะมีค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้ CTG โดยบริษัทจะได้ส่วนแบ่งราว 5%

“เมื่อนักลงทุนก๊อบปี้โมเดลต้นแบบแล้ว จะได้หุ้นตัวเดียวกับโมเดลต้นแบบทั้งหมด หากมีการซื้อหรือขายหุ้นดังกล่าวเกิดขึ้น ระบบจะจับจังหวะซื้อขายหุ้นนั้นตามโมเดลต้นแบบให้เช่นเดียวกัน โดยปัจจุบัน Proprietary Trading ของ CTG ให้บริการซื้อขายหุ้นในต่างประเทศ และมีเทรดเดอร์ที่เป็นโมเดลต้นแบบอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเราเป็นโบรกฯรายแรกของไทยที่เชื่อมต่อกับระบบของ CTG จากความร่วมมือให้บริการนี้ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อขายหุ้นไทยได้ง่ายขึ้น” นายชนะชัยกล่าว

นับเป็นอีกก้าวใหม่ของธุรกิจโบรกเกอร์ไทยที่ต้องมองหาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาเพิ่มโอกาสการทำธุรกิจ นอกเหนือจากการใช้โรบอตเทรด ก้าวกระโดดมาที่โซเชียลเทรดดิ้ง ส่วนผลตอบรับและสร้างรายได้อย่างไร คงต้องติดตามต่อไป