เงินบาทอ่อนค่า หลัง กนง.ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ปี 2562

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 20 มีนาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/3) ที่ระดับ 31.69/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (19/3) ที่ระดับ 31.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากมีรายงานว่าจีนอาจจะไม่ทำตามข้อเรียกร้องบางอย่างของสหรัฐ รวมถึงยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดในเดือน ม.ค. โดยคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือน ม.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกันดอลลาร์ก็ได้รับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐ และการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะแสดงจุดยืนแบบผ่อนคลายในการประชุมกำหนดนโยบายในคืนนี้

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันทร์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี เนื่องจากมองว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบัน มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก และปัจจัยในประเทศที่สูงขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 62 เหลือโต 3.8% จากเดิมคาดโต 4.0% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.68-31.78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/3) ที่ระดับ 1.1346/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (19/3) ที่ระดับ 1.1350/52 ดอลลา่ร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรและปอนด์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังจากทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษยืนยันว่า นางเทเรซา เมย์ จะส่งหนังสือไปยังนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานสภายุโรป เพื่อขอร้องให้มีการขยายเวลา Brexit ออกไป ทั้งนี้นางเทเรซา เมย์ จะพบปะกับผู้นำ 27 ชาติสมาชิกของ EU ในวันพรุ่งนี้ ขณะเดียวกันวานนี้คณะกรรมการที่ปรึกษาของรัฐบาลเยอรมนีได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปีนี้ลงสู่ 0.8% จากเดิมที่เคยคาดไว้ในเดือน พ.ย. ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีอาจเติบโต 1.5% ในปี 2019 โดยคณะกรรมการเตือนว่ายังคงมีความเสี่ยงสูงจาก Brexit จากความขัดแย้งทางการค้า และจากการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างรุนแรง โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1336-1.1362 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1322/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/3) ที่ระดับ 111.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (19/3) ที่ 111.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือน ม.ค. ในวันนี้ โดยรายงานการประชุมแสดงให้เห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายของ BOJ มีความเห็นขัดแย้งกันในประเด็นที่ว่า BOJ ควรจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างรวดเร็วเพียงใด ในขณะที่้ความเสี่ยงจากต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นภัยคุกคามต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.36-11.68 เยน/
ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 1111.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (19/3) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (21/3) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมีนาคมจากมาร์กิตสหรัฐ (22/3) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนมีนาคม จากมาร์กิตสหรัฐ (22/3) และการเลือกตั้งประเทศไทย (24/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.8/-2.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.75/-0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ