กรมสรรพากรชี้แจงประเด็นเงินชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างที่ออกจากงานก่อนครบ 5 ปี

ตามที่ได้มีผู้เขียนบทความเรื่องเงินชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างที่ออกจากงานก่อนครบ 5 ปี ต้องเสียภาษีเต็มจำนวน เป็นการซ้ำเติมผู้ที่ออกจากงาน เนื่องจากสิทธิในการเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไป รวมคำนวณกับเงินได้ประเภทอื่น ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการให้สิทธิเฉพาะลูกจ้างที่ทำงานครบ 5 ปีเต็ม  จึงควรยกเลิกเงื่อนไขระยะเวลาการทำงาน 5 ปี หรือปรับระยะเวลาเป็นขั้นบันได นั้น

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ได้ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า

​​1. เงินชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยหลักภาษีจะต้องเป็นเงินได้ของลูกจ้าง   และมีภาระภาษีเช่นเดียวกับเงินได้ประเภทอื่น อย่างไรก็ดี ประมวลรัษฎากรมีข้อผ่อนปรนให้เฉพาะการออม    แบบผูกพันระยะยาวใน 2 กรณีดังนี้

​​(1) กรณีการจ่ายเงินได้จากกองทุนที่จัดตั้งเพื่อส่งเสริมการออมแบบผูกพันระยะยาว เช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินได้ที่จ่ายจากกองทุนดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีหากครบเงื่อนไขในการออมระยะยาวของกองทุน

(2) กรณีเงินชดเชยจากการทำงานได้มีการวางหลักไว้ว่าการทำงานเกิน 5 ปี ถือเสมือน     การออมระยะยาว เงินชดเชยดังกล่าวจะได้รับการผ่อนปรนโดยได้รับสิทธิแยกคำนวณภาษี ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณ   กับเงินได้ประเภทอื่น

2. อย่างไรก็ดี หากเป็นการออกจากงานโดยไม่สมัครใจ ซึ่งได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วย     การคุ้มครองแรงงาน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท ตามข้อ 2 (51) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่  126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร     และเงินชดเชยที่ได้รับในส่วนที่เกิน 300,000 บาท ยังสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวน 100,000 บาท   และค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าลดหย่อนอื่น ๆ รวมทั้งยังได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ      ในส่วน 150,000 บาทแรกอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ออกจากงานมีภาระภาษีลดลงจำนวนหนึ่ง หรือไม่มีภาษีที่จะต้องชำระแต่อย่างใด

สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยขอให้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร. 1161หรือที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ