ค่าเงินบาทผันผวน นักลงทุนจับตามองทิศทางการเมืองของไทย

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 18-22 มีนาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (18/3) ที่ระดับ 31.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ 31.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ (15/3) มีรายงานตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวลง 0.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนมกราคม

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐของมหาวิทยาลัยมิชิแกน บ่งชี้ว่าชาวอเมริกันมีความมั่นใจมากขึ้น โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นแตะระับ 97.80 ในเดือนมีนาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 95.0 หลังจากลดลงมาอยู่ที่ระดับ 93.8 ในเดือนก่อนหน้า ในช่วงวันจันทร์และวันอังคาร (18-19/3) ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากนักลงทุนยังคงรอดูผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม หลังผลการประชุมของเฟดถูกเปิดเผยในวันพุธ (20/3) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลง โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับร้อยละ 2.25-2.50 ในการประชุมครั้งนี้ ตามที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ และส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อีก โดยเฟดจะใช้ความอดทนก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงท้ายตลาดจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ในวันศุกร์ (22/3) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 9,000 ราย สู่ระดับ 221,000 ราย ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมาก แตะระดับ 31.80/82 บาท/ดอลลาร์ หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ (7:0) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดยมองคณะกรรมการมองว่าระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันเป็นระดับที่เหมาะสมแล้วและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2562 เหลือ 3.8% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4.0% อีกด้วย ในวันพฤหัสบดี (21/3) กระทรวงพาณิชย์ไทยได้แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีมูลค่า 21,533.70 ล้านเหรียญสหรัฐ กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.91 จากที่หดตัวร้อยละ 5.65 ในเดือนมกราคม เมื่อเปรียบเทียบรายปี ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,519.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวลงร้อยละ 10.03 จากที่ขยายตัวร้อยละ 13.99 ในเดือนมกราคม เมื่อเปรียบเทียบรายปี ขณะที่ไทยมียอดค้าเกินดุลมูลค่า 4,034.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงจับตามองสถานการณ์ทางการเมืองของไทยหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง  (24/3) ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.61-31.80 บาท/ดอลลาร์สหรับ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (22/3) ที่ระดับ 31.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (18/3) ที่ระดับ 1.1322/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ 1.1320/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนในประเด็นเรื่องการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษ โดยนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาอังกฤษประนีประนอมในเรื่องข้ตกลงของอังกฤษในการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ก่อนที่จะมีการส่งร่างข้อตกลง Brexit ให้รัฐสภาพิจารณาและลงมติิอีกครั้ง ในวันอังคาร (19/3) เงินยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังจากที่นายจอห์น เบอร์คาว และประธานรัฐสภาอังกฤษ ได้เตือนนางเทเรซา เมย์ ว่าไม่ให้นำข้อตกลง Brexit ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่แตกต่างจาก 2 ฉบับแรกเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาสหราชอาณาจักร

ต่อมาในวันพฤหัสบดี (21/3) นายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป ได้แถลงการณ์ว่า สหภาพยุโรป (EU) พร้อมที่จะขยายกำหนดเวลาการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อีกไปอีก 3 เดือนตามที่อังกฤษร้องขอ โดยมีเงื่อนไขว่าสภาสามัญชนของอังกฤษจะต้องให้การอนุมัติข้อตกลง Brexit ที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำไว้กับผู้นำ EU ก่อนหน้านี้ โดยมีรายงานจากสำนักข่าวซินเพิ่มเติมว่า นายโดนัลด์ ทัสก์ เปิดเผยผ่านทางทวิตเตอร์ว่า EU ได้ตกลงที่จะขยายเวลาการบังคับใช้มาตรา 50 ไปจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 หากรัฐสภาอังกฤษลงมติอนุมัติข้อตกลง Brexit ได้ในสัปดาห์หน้า ในวันศุกร์ (22/3) ค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่น่าผิดหวัง โดย PMI ภาคการผลิตของฝรั่งเศสออกมาที่ 49.8 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 51.4 ขณะที่ของเยอรมนีอยู่ที่ 44.7 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 48 ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1287-1.1448 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/3) ที่ระดับ 1.1300/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (18/3) ที่ระดับ 111.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ 111.68/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ช่วงต้นสัปดาห์ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานเบื้องต้นว่า ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 3.39 แสนล้านเยน หลังจากที่ขาดดุลการค้าติดต่อกันก่อนหน้านี้เป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งยอดเกินดุลดังกล่าวสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.05 แสนล้านเยน อย่างไรก็ตามยอดส่งออกยังคงปรับตัวลง 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 6.7% จากการชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศจีน และในวันศุกร์ (22/3) มีรายงานเพิ่มเติมจากกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 0.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบเป็นรายปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่มีการขยายตัว 0.8% ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.28-111.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/3) ที่ระดับ 110.53/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ