ไทยพาณิชย์ ปรับสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่ เหตุเน้นคุณภาพพอร์ต เผยมุ่งโตค่าธรรมเนียม 15-20%

ไทยพาณิชย์ ปรับสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่ เหตุเน้นคุณภาพพอร์ต ชี้มุ่งเป็น Main Bank เผย มุ่งโตค่าธรรมเนียม 15-20% หวังได้ Trade Finance หนุน คาดรักษา NPL ไม่เกิน 2%

นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารยังคงเติบโตสินเชื่อรายใหญ่อย่างต่อเนื่อง แต่อาจไม่โตมากเท่าปีก่อนที่โต 5-6 % โดยมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างที่ 800,000 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้ธนาคารไม่ได้มุ่งเน้นที่จะโตสินเชื่อรายใหญ่มาก แต่จะมุ่งเน้นที่การเลือกสัดส่วนของสินเชื่อให้มีคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ค่อนข้างกระจุกตัวที่สินเชื่อระยะยาว (Long Term Loan) ค่อนข้างมาก ในอัตราส่วน 70% ในขณะที่สินเชื่อระยะสั้น (Short Term Loan) อยู่ที่ 30% ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อระยะสั้นเป็น 35% ในปีนี้ และ 40% ในปี 63 ประกอบกับปีนี้ ธนาคารมีแผนที่จะเข้าไปเป็นธนาคารหลักในการทำธุรกรรม (Main Bank) ของธุรกิจรายใหญ่ ทำให้อยากจะมุ่งเน้น Short term facility มากขึ้น

โดยวิธีที่ธนาคารจะเข้าไปเป็น Main Bank ของธุรกิจรายใหญ่ คือ การการเข้าไปบริหารจัดการเงินสดหรือธุรกรรมให้ลูกค้า ซึ่งตามปกติจะมีลูกค้าที่เป็นบริษัทอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ลูกค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งธนาคารก็จะสนับสนุนทั้งเงินทุนหมุนเวียน (Working Cap) และสินเชื่อการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) และลูกค้าที่มีเงินสดเหลือจำนวนมาก ทำให้ธนาคารจะได้ CASA ดังนั้นจะเป็นการโตฐาน CASA ไปด้วยจากการที่เข้าไปเป็น Main Bank

ทั้งนี้ ปีนี้ธนาคารได้ตั้งเป้าเติบโตค่าธรรมเนียมรวมของรายใหญ่อยู่ที่ 15-20% จากปกติเฉลี่ยแต่ละปีอยู่ที่ราว 10% ซึ่งการเน้นค่าธรรมเนียมมากขึ้นจะได้ปัจจัยสนับสนุนจากการทำ Trade Finance ซึ่งธนาคารตั้งเป้าการเติบโต 20-25% จากปีก่อนที่อยู่ราว 10% และส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) เป็น 20% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 15-17% ในขณะที่รายได้รวมของธุรกิจรายใหญ่คาดว่าจะโต 4-5%

“การที่ไม่มุ่งไปเอาสัดส่วนสินเชื่อระยะยาวเยอะอาจกระทบส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Nim) ได้ เพราะ Nim ที่ได้ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อระยะยาว ซึ่งส่วนที่ปิดแก็ปตรงนั้นคือเอาค่าธรรมเนียมมาชดเชย” นายวศิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้คาดว่าจะรักษาระดับไม่เกิน 2% จากปัจจุบันที่อยู่ราว 1%


อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ธนาคารได้จับมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ประกาศความร่วมมือพัฒนา “PEA Energy Intelligence” บริการดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าสำหรับธุรกิจและครัวเรือนแบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบต้นน้ำ-ปลายน้ำ โดยครอบคลุมตั้งแต่การสำรวจวิเคราะห์ระบบไฟฟ้าเดิม จนถึงการจัดหาและรับรองคุณภาพซัพพลายเออร์ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมบริการทางการเงิน ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาต่อยอดพัฒนาบริการ Digital lending อยู่ เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มเข้าถึงแหล่งทุนจากธนาคารได้