เส้นทาง ดิจิทัล เวนเจอร์ส ครีเอตดิจิทัล แบงกิ้ง เสิร์ฟ SCB

ไพศาล เกียรติธนานันท์

สัมภาษณ์

ผ่านไปอย่างรวดเร็ว 3 ปี สำหรับ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด หรือเรียกสั้น ๆ ว่า DV ที่อยู่ในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งรับภารกิจท้าทายคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ฟินเทค มาตอบโจทย์ “ดิจิทัลแบงกิ้ง” ให้แก่แบงก์แม่ SCB ตามแผน “ทรานส์ฟอร์เมชั่น” โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ไพศาล เกียรติธนานันท์” กรรมการผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดิจิทัล เวนเจอร์ส เล่าถึงเส้นทางครีเอตโปรดักต์ดิจิทัลแบงกิ้งของ “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” ว่า

B2P ต่อยอดบริการลูกค้า

“ไพศาล” กล่าวถึงโปรดักต์ที่ออกมาให้บริการแก่ภาคธุรกิจเอกชนแล้ว คือ การเปิดตัว “แพลตฟอร์มจัดซื้อจัดจ้างครบวงจร” หรือ B2P (blockchain solution for procure-to-pay) ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้จำหน่าย หรือ supplier ต่าง ๆ กับ ผู้ซื้อรายใหญ่

โดย B2P ได้นำร่องใช้กับกลุ่มซัพพลายเชนของ SCG chemical ที่อยู่ในเครือของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย เมื่อเดือน ส.ค. 61 ซึ่ง B2P จะเป็นระบบออนไลน์ที่ช่วยให้ทั้งซัพพลายเออร์และฝั่ง SCG สามารถดำเนินกระบวนการจัดซื้อบน B2P ให้รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญการทำรายการบนแพลตฟอร์ม B2P จะสามารถตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานของแต่ละฝ่ายได้ชัดเจน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้ง 2 ฝั่ง ขณะนี้ใช้กับซัพพลายเออร์ 10 รายก่อน

แต่เมื่อต้นปี DV ได้หาลูกค้าที่มาใช้แพลตฟอร์ม B2P ได้อีก 2 ราย คือ “บมจ.แสนสิริ” กับซัพพลายเออร์ของแสนสิริเมื่อช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีซัพพลายเออร์เข้าร่วมบริการราว 10-20 ราย ซึ่งได้ผลตอบรับจากซัพพลายเออร์ค่อนข้างสูง โดยมีใบรายการของใบคำสั่งซื้อ (PO) เข้ามาเกือบหมื่นใบที่ส่งเข้ามาในแสนสิริ ซึ่งจะทำได้เยอะกว่าลูกค้ารายแรก (SCG chemical)

ส่วนลูกค้าที่กำลังจะมาใช้ B2P อีกรายเร็ว ๆ นี้ คือ “SCG packaging” ยังอยู่ในเครือของปูนใหญ่อีกนั่นเอง ซึ่งจะเริ่มกับซัพพลายเออร์กว่า 10 รายราวช่วงเดือน มี.ค.นี้ นอกจากนี้ กำลังเจรจาหาลูกค้าเพิ่มอีก 3 รายอย่าง ปตท., Mi-nor Food, CPF ซึ่งอยู่ในช่วงเก็บ requirement และออกแบบระบบ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดตัวกลางปีนี้

“แพลตฟอร์ม B2P ถือเป็นช่วงแรกของการทดลองให้บริการเฉพาะกลุ่มซัพพลายเออร์ก่อน เพราะฝั่งซัพพลายเออร์ก็ต้องมีความพร้อมที่จะปรับใช้ระบบใหม่ B2P ด้วย รวมทั้งต้องปรับวิธีทำงานภายในให้สอดคล้องกันกับฝั่งบริษัทผู้ซื้อด้วย ซึ่งแน่นอนว่าลูกค้าจะได้ผลบวกด้านต้นทุนที่ต่ำ”

ที่สำคัญ ปีนี้ DV ตั้งเป้าหมายว่า B2P จะสามารถตอบโจทย์การทำรายการของลูกค้าได้ในปริมาณสูงหลักแสนใบ และจะเห็นซัพพลายเออร์เข้ามาใช้ B2P แตะ 8-9 พันราย จากปัจจุบันมี 50 ราย

“ไพศาล” กล่าวว่า ธุรกิจใหญ่ที่ใช้ B2P จะได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการลดต้นทุนการดำเนินงาน การตรวจสอบว่าแต่ละเรื่องอยู่ในขั้นตอนใดบ้าง และช่วยลดความผิดพลาดลงด้วย ฝั่งซัพพลายเออร์ที่ขายของให้บริษัทใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น SMEs ก็จะสามารถลดกระบวนการทำงานที่สั้นลง และสามารถจัดวางบิลเรียกเก็บเงินได้สะดวกและง่ายขึ้น ขณะที่ฝั่งแบงก์ไทยพาณิชย์ที่ให้บริการลูกค้าเหล่านี้ก็จะเห็นการเคลื่อนไหวของซัพพลายเออร์ หากรายใดที่วางบิลแล้วยังไม่ถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน แต่ต้องการสภาพคล่องก็สามารถยื่น invoice financing กับธนาคาร ซึ่งซัพพลายเออร์จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น แบงก์ก็จะมีความมั่นใจในการให้สินเชื่อด้วยเพราะเห็นสถานะของซัพพลายเออร์อยู่แล้ว เช่น รู้ว่าวางบิลวันไหน และรับเงินเมื่อไหร่

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาลูกค้าที่มายื่นไฟแนนซิ่งยังไม่เยอะมาก เพราะบางบริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่แล้ว แต่คาดว่าจะเยอะขึ้นจากซัพพลายเออร์ของ SCG packaging ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ต้องการเงินหมุนเวียนอยู่

ด้าน SCB จะได้ฐานลูกค้าใหม่ที่เป็นซัพพลายเออร์ ซึ่งสามารถต่อยอดโปรดักต์ทางการเงินต่าง ๆ อาทิ มาเปิดบัญชีประเภทอื่น ๆ การทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ผ่านธนาคารรวมถึงการปล่อยสินเชื่อ เป็นต้น

“การดึงเข้ามาเป็นลูกค้าของธนาคาร ถือเป็นจุดประสงค์หลักมากกว่าที่เราหวังค่าธรรมเนียมการใช้ระบบ B2P เนื่องจากการเข้าใช้ระบบด้านซัพพลายเออร์จะไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ใช้สามารถเข้าใช้งานด้วยชื่อและรหัสผ่าน internet browser ได้ ส่วนบริษัทที่เป็นผู้ซื้อจะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง server”

B-VER ระบบเช็กใบเรียนจบ

อีกโปรเจ็กต์ของ DV ที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กว่า 10 แห่ง คือ ได้ร่วมกันพัฒนาโปรเจ็กต์ “แพลตฟอร์ม B.VER” เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่รับสมัครบุคลากรใหม่ ๆ สามารถใช้ตรววจสอบเอกสารสำคัญทางการศึกษา อาทิ ใบแสดงผลการเรียน (transcript) ของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ร่วมโปรเจ็กต์นี้ ซึ่งจะช่วยลดกระดาษและต้นทุนการตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ก้าวต่อไปของ DV

สำหรับทิศทาง DV “ไพศาล” กล่าวว่า จะต้องต่อยอดเพิ่มบริการในส่วนของแพลตฟอร์ม B2P เพื่อที่จะได้เพิ่มทั้งจำนวนผู้ซื้อและซัพพลายเออร์ เข้ามาใช้งานให้มาก

“และปีนี้จะมีโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ อีก 2-3 โปรเจ็กต์ ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่ช่วยให้ธนาคารมีโปรดักต์ใหม่ ๆ เสริมการให้บริการของธนาคาร ทั้งลูกค้ารายใหญ่และย่อย ซึ่งจะเกี่ยวกับการให้บริการซื้อ-ขายระหว่างประเทศ น่าจะเห็นในครึ่งปีหลังนี้”

แบงก์สู้ศึกดิจิทัลแบงกิ้งเดือด

“ไพศาล” ให้มุมมองเทรนด์การแข่งขัน “ดิจิทัลแบงกิ้ง” ว่า ทุกวันนี้การทำธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่สามารถทำบนมือถือได้หมด และลดการเข้าสาขาแบงก์ ซึ่ง “ภาพจะชัดขึ้นเรื่อย ๆ” จะเห็นธนาคารต่าง ๆ สามารถให้กู้เงินทางแอปพลิเคชั่นได้ น่าจะช่วยบรรเทาเรื่องการกู้หนี้นอกระบบได้มากขึ้น

“ธนาคารจะอยู่บนโทรศัพท์มือถือเรามากขึ้นเรื่อย ๆ และในการปล่อยกู้ซึ่งธนาคารจะลงมาเล่นมากขึ้น แต่เดิมมีคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ได้ ถ้าแอปฯต่าง ๆ พัฒนาเพิ่มเติมขึ้นมา ต่อไปจะเห็นรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นมา แข่งกับแบงก์ เพราะต่างก็หวังว่าประชาชนได้ประโยชน์ในการมีทางเลือกมากกว่าจะไปกู้นอกระบบ”

“ไพศาล” ทิ้งท้ายว่า นับวันผู้เล่นในสนามโมบายแบงกิ้งมีแต่มากขึ้น ไม่ใช่มีแค่แบงก์เท่านั้น ดังนั้น การแข่งขันตรงนี้ก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น