คลังปล่อยผี”คราฟต์เบียร์” รอชงรัฐบาลใหม่-30เอกชนลุ้นตัวโก่ง

แฟ้มภาพ
ผู้ผลิต “คราฟต์เบียร์” เฮ สรรพสามิตเร่งศึกษาความเป็นไปได้ออกใบอนุญาตตั้งโรงงานในประเทศ เตรียมชงรัฐบาลใหม่ไฟเขียว เผยจ่อออกมาตรฐาน “ไวน์-สุราแช่-สุรากลั่น-เบียร์” รองรับ เอกชน 30 รายลุ้นระทึก

 

แหล่งข่าวกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนให้ “คราฟต์เบียร์” สามารถผลิตภายในประเทศได้ อาทิ การปรับลดเพดานกำหนดการผลิตเบียร์ในประเทศ ที่ปัจจุบันกำหนดให้ โรงเบียร์ขนาดเล็กต้องมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี เพื่อให้เอื้อต่อการผลิตคราฟต์เบียร์ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก แต่ก็เป็นประเด็นที่ต้องเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณา

“ทุกวันนี้ก็มีคนอยากทำคราฟต์เบียร์ 20-30 ราย แต่ต้องไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา หากรัฐเปิดโอกาสน่าจะมีคนสนใจ แต่คราฟต์เบียร์ไม่ได้ทำกันง่าย ๆ ต้องมีเงินเป็นหลักล้านบาท ไม่เหมือนสุราชุมชน”

ทั้งไม่กระทบตลาดเบียร์ในภาพรวม เนื่องจากปริมาณการผลิตมีไม่มาก และราคาขายก็ค่อนข้างสูง ถือว่าเป็นคนละเซ็กเมนต์กับเบียร์ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศผลิตและจำหน่าย

สำหรับการผลิตคราฟต์เบียร์ในประเทศ ผู้ผลิตจะต้องมีโรงงานผลิต แต่อาจจะเป็นโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งจะเล็กกว่าผับที่ขายเบียร์ซึ่งผลิตที่ร้าน หรือ brew pub เช่น โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ที่มีกำลังผลิตอย่างน้อย 100,000 ลิตรต่อปี และมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติหลักการมาตรการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสุราให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ จากเดิมสุรานำเข้ามาในราชอาณาจักรต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ที่ดูทั้งการผลิต (โรงงาน) และน้ำสุรา แต่มาตรการใหม่จะใช้มาตรฐานของกรมสรรพสามิต โดยให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้ตรวจสอบ

และปรับเป็นให้ “ส่งตัวอย่างสุราที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักรต่ออธิบดีเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพก่อนยื่นคำขอใบอนุญาต หรือส่งหนังสือรับรองผลการวิเคราะห์ตัวอย่างสุราดังกล่าวว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” ถือเป็นแนวทางรองรับการเปิดให้ผลิตคราฟต์เบียร์ในประเทศ เพราะการตรวจสอบจะพิจารณาถึงรายเล็กด้วย จากเดิมจะดูเฉพาะรายใหญ่ ปัจจุบันคราฟต์เบียร์ยังต้องนำเข้า และรัฐจัดเก็บภาษีได้ไม่ถึง 3% ของภาษีเบียร์ทั้งหมด

หลังจากนี้จะมีการออกประกาศกรมสรรพสามิตเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ การตรวจวิเคราะห์คุณภาพสุราสำหรับสุราที่ผลิตในประเทศและสุรานำเข้าใหม่ โดยแบ่งมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสุราเป็น 4 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานไวน์ มาตรฐานสุราแช่อื่น (กะแช่, สาโท) มาตรฐานสุรากลั่น และมาตรฐานเบียร์ ซึ่งจะรวมถึงคราฟต์เบียร์ในอนาคต

ส่วนกรณีเบียร์ 0% ไม่ถือว่าเป็นสุรา เพราะแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5% จึงต้องเสียภาษีในหมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ คือ 14% ของมูลค่าบวกกับอัตราตามค่าความหวาน เช่น ราคากระป๋องละ 20 บาท ก็จะเสียภาษีประมาณ 2-3 บาท

คลิกอ่านเพิ่มเติม… ตลาดเบียร์”61 คึกคัก “คราฟต์-ซูเปอร์พรีเมี่ยม” แรงส์!

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!