ธุรกิจกอดเงินสด3ล้านล. หวั่นสุญญากาศการเมืองยืดเยื้อ ลุ้นรัฐบาลใหม่รอจังหวะลงทุน

แฟ้มภาพ
ธุรกิจหวั่นปัญหา dead lock การเมืองฉุด จัดตั้งรัฐบาลลากยาว-ไม่มีเสถียรภาพ กัดฟันเดินหน้าลงทุน เชื่อไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ รัฐบาลบิ๊กตู่ยังมีอำนาจเต็ม สมาคมค้าปลีกประเมินกำลังซื้อครึ่งปีแรกโตต่ำ “ธนวรรธน์” ชี้ช่วงสุญญากาศการเมือง ลุ้นรัฐบาลใหม่เร่งสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เปิดข้อมูลใหม่ภาคธุรกิจไทยเก็บเงินสดในแบงก์กว่า 3.35 ล้านล้านบาทหวังรอจังหวะลงทุนต่อ

แม้การเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมาจะผ่านพ้นไปด้วยดี แต่ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านซึ่งพรรคการเมือง 2 พรรคที่มีคะแนนนำในลำดับที่ 1 และ 2 กำลังช่วงชิงความได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาล ถูกจับตามองด้วยความเป็นห่วงจากนักธุรกิจนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ แม้ขณะนี้การแข่งขันกันในเกมการเมืองจะดำเนินไปอย่างปกติ แต่หวั่นเกรงว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยิ่งล่าช้ายิ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ

เอฟเฟ็กต์ตลาดทุนระยะสั้น

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าผลการเลือกตั้งสุดท้ายจะออกมาอย่างไร หรือใครจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่ทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยต่างมีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และมีวิธีคิดหรือวิธีทำงานที่สนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจให้ดีขึ้นได้ ซึ่งตลาดทุนมองเห็นความชัดเจนในการพยายามทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“ในระยะสั้นตลาดทุนอาจเผชิญความไม่แน่นอนและความผันผวน ซึ่งต้องรอว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร ขณะที่ระยะยาวคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากทั้ง 2 พรรคมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนไม่ได้มีแต่เฉพาะปัจจัยในประเทศ แต่ปัจจัยภายนอกประเทศที่สำคัญส่งผลกระทบต่อตลาดทุนตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นที่จะฝากก็คือ เราต้องคอยระวังเรื่องของปัจจัยต่างประเทศค่อนข้างเยอะ” นายภากรกล่าว

หวั่นรัฐบาล dead lock 

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์การจัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า การเมืองปัจจุบันอยู่ในช่วงรอคอยว่าใครจะจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาได้ สิ่งที่น่ากังวลคือพรรคที่เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล 2 ฝั่งมีคะแนนเสียงใกล้กัน ทำให้อาจจะเกิด dead lock หรือภาวะที่ไม่สามารถอนุมัติอะไรได้ แบบที่ประเทศสวีเดนเคยเผชิญ

“ต้องจับตาดูต่อว่าจะมีใครย้ายฝั่งจากที่จะจับขั้วกันหรือไม่ และตัวแปรที่เห็นชัดเจนคือ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร คงต้องมองถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนใหญ่ หากมองในแง่การลงทุน การที่มีรัฐบาลเสียงน้อยเกินไปจะมีผลต่อการออกกฎหมาย รวมถึงการออกกฎหมายงบประมาณอาจผลักดันไม่ผ่าน” นางวรวรรณกล่าว

นายสมบุญ ฟูศรีบุญ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.นำสินประกันภัย กล่าวว่า ไม่คิดว่าจะเกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้ยังมีรัฐบาลซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดว่า จะสามารถดูแลได้จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร ส่วนภาคธุรกิจเองเชื่อว่ามีการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว หากเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่พร้อมเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ เพียงแต่เวลานี้เหมือนเกิดปรากฏการณ์ “deadlock” ทางการเมือง หรือภาวะชะงักงันที่หาข้อสรุปไม่ได้

“ในส่วนบริษัทเอง ขณะนี้พยายามรักษายอดขายจากคู่ค้าและพันธมิตร ขณะเดียวกันพยายามกระตุ้นให้ทีมงานดูแลลูกค้าอย่างใกลชิด” นายสมบุญกล่าว

ครึ่งปีแรกค้าปลีกโตต่ำ

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้รัฐบาลเดิมยังคงทำหน้าที่บริหารประเทศได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังคงเฝ้าติดตามว่าจะออกมาในรูปแบบไหน และมีแนวนโยบายร่วมกันที่จะทำอย่างไรบ้าง ซึ่งคงต้องรอกันต่อไป ขณะที่ภาพรวมค้าปลีกในครึ่งแรกของปี”62 คาดว่ากำลังซื้อยังคงเติบโตต่ำกว่าที่ควรเป็น

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของภาคค้าปลีกค้าส่งส่งผลต่อการจ้างงานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 16 ของการจ้างงานทั้งประเทศ โดยยอดเม็ดเงินการลงทุนของกลุ่มค้าปลีก (modern chain store) ช่วงปี 2016-2018 อยู่ที่ประมาณ 130,200 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละประมาณ 43,400 ล้านบาท)

ค่ายรถลุ้นต่อตามโรดแมป

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลายฝ่ายกังวลการจัดตั้งรัฐบาลอาจยืดเยื้อ แต่สำหรับค่ายรถยนต์ไม่ค่อยห่วง เพราะรัฐบาลชุดเก่ายังมีอำนาจเต็ม เชื่อว่านโยบายทุกอย่างจะถูกขับเคลื่อนไปตามโรดแมป ซึ่งแต่ละบริษัทกำหนดการลงทุนไว้อย่างชัดเจน ส่วนภาวะตลาดก็ไม่น่ากระทบกระเทือนแต่อย่างใด เนื่องจากช่วง 2 เดือนแรกตลาดโตมากกว่า 12%

“ทั้งนี้คงต้องรอดูการจัดตั้งรัฐบาล หากได้นายกรัฐมนตรีคนเดิมก็เชื่อว่าจะได้ความต่อเนื่องของนโยบายต่าง ๆ จะสานต่อ และจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา” นายชาญชัยกล่าว

ขณะที่นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเมืองไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค ใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ เพียงแต่ในเรื่องของการสานต่อนโยบายต่าง ๆ นั้นควรมีความต่อเนื่องและชัดเจน

ด้านนายโทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ยังมั่นใจกับรัฐบาล และคาดว่ายอดขายรถยนต์ปีนี้น่าจะอยู่ระดับ 1.05 ล้านคัน

“ทุกอย่างยังอยู่ในกระบวนการดำเนินงาน แต่ปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์น่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลจากสงครามการค้า ส่วนในประเทศไทยหากเกิดความไม่สงบก็ส่งผลกระทบต่อตลาดเช่นกัน”

เชื่อรัฐบาลใหม่เร่งอัดฉีดกำลังซื้อ

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตลาดกรุ๊ป จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความกังวลสำคัญของนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ ณ เวลานี้คือ “เสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่”  ทำให้หลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการการลงทุนที่ภาครัฐสนับสนุน หรือเกี่ยวกับการผลักดันนโยบายต่าง ๆ อยู่ในภาวะ wait & see เพื่อรอความชัดเจนก่อนว่าจะต้องมีการทบทวนหรือปรับแผนการลงทุนหรือไม่

“ด้านกำลังซื้อผู้บริโภคเชื่อว่ายังไปได้ และน่าจะมีผลแค่ระยะสั้น โดยเฉพาะในตลาดอีคอมเมิร์ซจะไม่ได้รับผลกระทบยังเดินหน้าค้าขายตามปกติ ปัจจัยที่จะกระทบจริง ๆ จะเป็นการบังคับใช้กฎหมายอีเพย์เมนต์ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 21 มี.ค.นี้มากกว่า อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะเร่งอัดฉีดเพื่อเพิ่มกำลังซื้อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก แต่เสถียรภาพจะอยู่ได้นานแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง”

เศรษฐกิจโลกแรงกว่าการเมือง

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในช่วงระหว่างการรอจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่น่ามีผลกระทบมากนักต่อกระบวนการทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลก็ยังคงทำหน้าที่อยู่ การลงทุนต่าง ๆ อยู่ในท่อแล้ว และยังมีสิ่งที่ดำเนินการต่อเนื่องจากที่ทำไปแล้วอยู่ ซึ่งไม่น่าถือว่าเป็นสุญญากาศทางเศรษฐกิจ ประเด็นสำคัญคือเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หลังจากมีการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล โดยรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นขั้วใดเป็นแกนนำก็คงมีการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจครึ่งแรกของปีคงโตต่ำกว่า 4% ดังนั้นรัฐบาลใหม่อาจถูกคาดหวังให้มีมาตรการใหม่ออกมา ที่จะส่งผลให้เกิดแรงผลักดันทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และหวังว่าจะช่วยชดเชยส่วนที่มีช่องว่างในระหว่างที่รอจัดตั้งรัฐบาลได้

“ประเด็นที่น่ากังวลคือ การค้าการส่งออก ที่ถูกกระทบจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก ซึ่งมองว่าปัจจัยเศรษฐกิจโลกยังมีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าการเมือง” นายเชาว์กล่าว

สุญญากาศการเมือง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ช่วงนี้คงเป็นช่วงสุญญากาศ เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง เพราะยังต้องรอสรุปผลการเลือกตั้งที่ระบุจำนวนเก้าอี้อย่างชัดเจนจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งตามกรอบจะต้องรับรองผลการเลือกตั้งไม่เกินวันที่ 9 พ.ค.

โดยขณะนี้ยังมีความก้ำกึ่งในการเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลของทั้งฝั่งพรรคพลังประชารัฐและฝั่งพรรคเพื่อไทย ซึ่งยากจะคาดเดา แต่หากดูโครงสร้างจากรัฐธรรมนูญ ที่มีการกำหนดให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทำให้เห็นภาพได้ว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็อาจจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ หากพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลโดยมีเสียงเกิน 260 เสียงหรือมากกว่านั้นได้ ก็จะมีความมั่นคงขึ้น

“ต้องยอมรับว่า ช่วงนี้คงเป็นสุญญากาศ ก่อนที่ กกต.จะมีการประกาศที่ชัดเจน แต่ว่าไม่ได้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ คือเราต้องแยกว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกไม่ดี ทำให้ไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ดีมาก ถ้าไม่มีการถอนเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้น ก็จะไม่น่ากังวล” นายธนวรรธน์กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลปัจจุบันยังสามารถขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจได้ เพราะไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เพียงแต่ด้วยมารยาทคงไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนักช่วงนี้ แต่การเร่งเบิกจ่ายงบฯลงทุนที่อยู่ในไปป์ไลน์อยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้านบาท คงเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก็คงดำเนินไปตามกรอบได้

“เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับนานาชาติ ที่การเลือกตั้งอาจจะมีรัฐบาลผสม และมีการยุบสภาเกิดขึ้นบ่อย แต่ถ้านโยบายชัดเจนและต่อเนื่อง ภาพเศรษฐกิจก็คงไม่มีอะไรเสียหาย โตได้ แต่อาจจะไม่สูง ซึ่งการเติบโตในกรอบใกล้เคียง 4% เหมือนช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา” นายธนวรรธน์กล่าว

รับเหมาขออย่าหยุดบิ๊กโปรเจ็กต์ 

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ไม่ว่ารัฐบาลไหนมา อย่าเช็กบิลโครงการเก่า อย่าหยุดพัฒนาและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ให้เดินหน้าต่อ เพราะจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม ขอให้เดินหน้าลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เร่งเร็วขึ้น ไม่ว่ารถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง โครงการน้ำ เพราะยิ่งสร้างเร็ว จะยิ่งส่งผลดีต่อจีดีพีของประเทศให้เติบโตขึ้น

ขณะที่นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า ต้องดูว่ารัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพแค่ไหน และคาดว่าโครงการเก่าจะได้รับการสานต่อจากรัฐบาลใหม่อย่างต่อเนื่อง เพราะจะทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวได้อีก และจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างที่อย่างน้อยก็ทรงตัวหรือดีขึ้น

อสังหาฯ wait & see

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงการฟอร์มรัฐบาลใหม่ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานเท่าใด ภาคเอกชนจึงได้แต่ wait & see เพราะเรื่องต่าง ๆ ที่รัฐบาลชุดเก่าเคยดำริไว้แต่ยังไม่ได้ทำ ในอนาคตจะทำต่อหรือถูกยกเลิก ทำให้ช่วง 2 เดือนจากนี้มองได้ว่าเป็นช่วงสุญญากาศได้

“ช่วง 2 เดือนนี้เป็นสุญญากาศด้านการลงทุนหรือเปล่า คงไม่กล้าประเมินเพราะไม่รู้รัฐบาลจะทำหรือไม่ทำเรื่องอะไร ถ้าเป็นรัฐบาลเพื่อไทยห่วงด้านการลงทุนคงชะงัก เพราะต้องมาเริ่มใหม่และอาจรื้อนโยบายเยอะ นโยบายอะไรที่ยังไม่ได้ลงมือทำอาจขอทบทวนใหม่ ล้วนแต่เกิดได้ทั้งสิ้น”

สำหรับผลกระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาฯ ดร.อาภากล่าวว่า มองจากประสบการณ์ เลือกตั้งครั้งนี้อาจมีความเกี่ยวพันไม่มากเพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่มาถึงต้องดูแลความมั่นคงของประชาชนในด้านที่อยู่อาศัย อยู่ที่จะออกนโยบายอะไรมาสนับสนุน ทุกรัฐบาลต้องทำอยู่แล้วเพียงแต่ทำน้อยทำมาก ทำช้าทำเร็ว ฉะนั้นจึงมองว่ากระทบไม่มาก

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว พรรคแกนนำไม่ว่าขั้วพรรคเพื่อไทยหรือขั้วพรรคพลังประชารัฐได้จัดตั้งรัฐบาลก็ตาม เงื่อนไขมีแนวโน้มนำไปสู่ม็อบการเมืองได้ทั้งนั้น ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ภาคเอกชนไม่อยากให้เกิดขึ้น

“รัฐบาลใหม่ถ้าเป็นชุดเดิมก็คือมาสานต่อสิ่งที่ทำอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นขั้วใหม่คงเป็นไปได้ยากที่จะสานต่อนโยบายเดิม โดยเฉพาะ EEC ซึ่งอาจไม่ฟู่ฟ่าอย่างที่คิด”

จี้ทบทวนค่าแรงหาเสียง

ด้านนายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองไม่มีพรรคไหนพูดชัดเจนด้านเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย มีแต่ พปชร.ทำบ้านล้านหลัง จึงมอง 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2561 ทำสถิตินิวไฮทุกด้าน ทั้งยอดเปิดโครงการใหม่ ยอดโอน และยอดปล่อยสินเชื่อ ปีนี้จึงเป็นปีที่ต้องระมัดระวังตัวอยู่แล้ว

2.สิ่งที่ต้องจับตาคือรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง กรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2563 อยากให้พิจารณาการออกกฎหมายลูกมารองรับ โดยเฉพาะประเด็นการนำที่ดินมาพัฒนาโครงการแต่ยังขายไม่หมด ซึ่งขอผ่อนผัน 3 ปี ได้รับยกเว้นภาษี และ 3.อยากให้ทบทวนนโยบายหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำ ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันด้วย ข้อเสนอหลักคือรัฐบาลใหม่ต้องกำหนดให้มีมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อสามารถแยกได้ว่าแรงงานฝีมือควรมีรายได้สูงมากกว่าแรงงานไร้ฝีมือ

ขอการเมืองนิ่งพร้อมลงทุน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น ชี้ว่า ภาคเอกชนอยากเห็นการเมืองที่มีเสถียรภาพ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญในส่วนนี้ ที่เหลือภาคเอกชนพร้อมช่วยเหลือตนเองในการดำเนินธุรกิจ หากบรรยากาศการลงทุนมีทิศทางที่ดี เศรษฐกิจประเทศจะดีตามไปด้วย เพราะจากการสอบถามนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่อยากให้การเมืองมีเสถียรภาพคล้าย ๆ กัน

ส่วนนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ กล่าวว่า หากการเมืองนิ่งบริษัทก็พร้อมจะลงทุนต่อยอดจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ การลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ลิเที่ยม ไอออน ล่าสุดได้จัดตั้งบริษัทย่อยชื่อ บจ.โมบิลิตี คอร์ปอเรชั่น เพื่อผลิตจำหน่ายรถยนต์ระบบพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (Pure EV System) ภายใต้แบรนด์ “MINE Mobility” ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยทีมงานของบริษัทที่เป็นคนไทยทั้งหมด และใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ ถือเป็นรถไฟฟ้าเพื่อคนไทย ราคาที่เป็นไปได้สำหรับคนไทย งบลงทุน 100 ล้านบาท เป้าหมาย 5,000 คันในเฟสแรก

ติงรัฐบาลใหม่อย่าใช้เงินมือเติบ

ขณะที่ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่ามีโอกาสสูงที่ พปชร.จะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล แต่ต้องหาสูตรผสมนโยบายที่ลงตัวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพราะแต่ละพรรคมีนโยบายต่างกัน เฉพาะ พปชร.ก็มี 14-15 นโยบายแล้ว จึงต้องเลือกนโยบายหลัก ตัดลดวงเงินหรือทบทวนนโยบายบางส่วน เช่น การแจกเงินในโครงการต่าง ๆ การขึ้นค่าแรงในอัตราที่สูงเกินจริงอย่าง พปชร.มีการใช้เงินดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงประมาณ 5.9 แสนล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) มากว่างบลงทุนแต่ละปีที่ 4.2 แสนล้านบาท อาจต้องขึ้นภาษีซึ่งจะกระทบประชาชน หรือใช้เงินกู้ก็จะมีปัญหา นอกจากนี้ต้องมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก กระตุ้นกำลังซื้อประชาชนให้ได้ ไม่ใช่แค่แจกเงินโดยไม่มีเหตุผล และต้องดูแลการทุจริตคอร์รัปชั่น

ธุรกิจกอดเงินฝาก 3.3 ล้านล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง เงินรับฝากแยกตามประเภทผู้ฝากและประเภทบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ พบว่าเงินรับฝากของภาคธุรกิจ (ณ ม.ค. 62) อยู่ที่ 3,355,542 ล้านบาท โดยเป็นการรวมบัญชีทุกประเภททั้งบัญชีกระแสรายวัน, บัญชีออมทรัพย์ และบัญชีฝากประจำ ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ม.ค. 2557 บัญชีเงินฝากของภาคธุรกิจอยู่ที่ 2,192,747 ล้านบาท เรียกว่าภาคธุรกิจถือเงินสดเพิ่มขึ้น

ในช่วง 5 ปีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประมาณ 1.16 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 35% แม้ว่าสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ โดยมีการตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นเพราะในช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจขยายการลงทุนน้อยเน้นเก็บเงินสดไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจมีการขยายตัวต่ำ

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนเงินฝากของภาคธุรกิจนั้น เนื่องจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยอาจรอจังหวะการลงทุน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังไม่ได้ถึงขั้นไม่ลงทุน เพราะยังเห็นการลงทุนของเอกชนไทยอยู่ แต่อาจจะไม่ได้แรงเท่าในอดีต ส่วนหนึ่งอาจเพราะยังรอดูความเชื่อมั่นทางการเมืองไทย และของต่างประเทศ เช่น สงครามการค้า ทำให้อาจชะลอการลงทุนไว้ก่อน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!