สรรพากรสแกนธุรกิจใช้เงินสด เลี่ยงโอนผ่านออนไลน์ขู่ตรวจเข้มโทษหนัก

สรรพากรจับตาธุรกิจไม่ยอมทำธุรกรรมชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์-คิวอาร์โค้ด นิยมใช้แต่เงินสด/โอนก้อนใหญ่ ชี้กรมมองเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องตรวจสอบเข้มงวด-ลงโทษอย่างรุนแรง ดีเดย์หลัง 30 มิ.ย.นี้จัดหนักแน่นอน ลั่นเปิดทางเอสเอ็มอี 4.6 แสนรายปรับปรุงบัญชี-งบการเงินให้ถูกต้องเป็นครั้งสุดท้าย 1 เม.ย.-30 มิ.ย.นี้

นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หลังจากวันที่ 30 มิ.ย. 2562 กรมสรรพากรจะเข้มงวดตรวจสอบผู้ประกอบการว่ามีการจัดทำบัญชี/งบการเงินอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่ โดยจะใช้ระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีตามระดับความเสี่ยงของงบการเงิน โดยกลุ่มธุรกิจที่จะให้ความสำคัญในการจับตามากที่สุดก็คือ กลุ่มธุรกิจที่มีการใช้ธุรกรรมเงินสด

“ในวันนี้เราทราบว่ามีผู้ประกอบการจำนวนมาก พยายามจะไม่ทำธุรกรรมผ่านช่องทางการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช้คิวอาร์โค้ด แต่จะรวบรวมเงินสดแล้วค่อยโอน ซึ่งธุรกรรมลักษณะนี้กรมให้ความสนใจ และมองว่าเป็นธุรกรรมที่มีความเสี่ยง และจะใช้การตรวจสอบกับกลุ่มธุรกิจที่ใช้เงินสด โดยใช้มาตรการที่เข้มงวดและใช้บทลงโทษอย่างรุนแรงกับกลุ่มนี้ คือคิดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอย่างเต็มที่” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยปรับจะคิดตามฐานความผิด มีทั้ง 1-2 เท่า ส่วนเงินเพิ่มจะคิดอัตรา 1.5% ต่อเดือนขณะเดียวกัน กรมยังได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการกำกับให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งพิจารณาปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ โดยต้องใช้งบการเงินที่ยื่นต่อกรมสรรพากร ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 มาตรา 8 ที่กำหนดว่า ให้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจผู้ประกอบการ ผู้สอบบัญชี และผู้รับทำบัญชีด้วย

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ กรมสรรพากรได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ทางภาษีไม่เกิน 500 ล้านบาท (เอสเอ็มอี) สามารถลงทะเบียนในระบบ “ส่งเสริมผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ” ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร หากต้องการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา

“ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการจะรีบปรับปรุงงบการเงิน และปรับแบบแสดงรายการภาษีให้ถูกต้อง เพราะกฎหมายไม่ได้คุ้มครองเรื่องการถูกตรวจสอบ ดังนั้น หากผู้ประกอบการไม่ปรับปรุง เจ้าหน้าที่ก็จะไปตรวจสอบ โดยหลังวันที่ 30 มิ.ย. 2562 ผู้ประกอบการอาจจะถูกประเมินภาษี พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม และต้องชำระในอัตราที่สูง”

นายเกรียงศักดิ์กล่าวอีกว่า การออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ปรับปรุงแบบแสดงภาษีและงบการเงินให้ถูกต้อง จะเป็นมาตรการสุดท้ายสำหรับการสนับสนุนให้ทำบัญชีชุดเดียว จึงอยากรณรงค์ให้ผู้ประกอบการที่ยังมีข้อผิดพลาดได้มาลงทะเบียนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเอสเอ็มอีที่สามารถร่วมโครงการได้มี 4.6 แสนราย โดยหลังจากทำมาตรการครั้งก่อนกรมได้เข้าไปตรวจแนะนำ พบว่ายังมีความผิดพลาดในการทำบัญชี เช่น สินค้าคงคลัง (สต๊อก) ที่ยังไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ครั้งนี้จะมีเงื่อนไขด้วยว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ลงทะเบียนต่อกรมสรรพากรและได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรสำหรับภาษีอากรทุกประเภทผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ให้ครบถ้วน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2562 ถึง 30 มิ.ย. 2563 หากไม่ดำเนินการก็จะถูกยกเลิกสิทธิตามกฎหมายนี้ทันที

“เราต้องการให้ผู้ประกอบการยื่น e-Filing อย่างน้อย 12 เดือน เพราะเราหวังว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนพฤติกรรมจากการยื่นกระดาษไปเป็นยื่นทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเขาจะได้เห็นประโยชน์ และพบว่าง่ายกว่าการยื่นกระดาษ และช่วยประหยัดงบประมาณ รวมถึงเป็นการอำนวยความสะดวกในการที่จะคืนภาษีให้ผู้ประกอบการเร็วขึ้นด้วย” รองอธิบดีกรมสรรพากรกล่าว