ค่าเงินบาททรงตัว ติดตามความคืบหน้าเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 2 เมษายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/4) ที่ระดับ 31.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (1/4) ที่ระดับ 31.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แกว่งตัวผันผวนหลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาไร้ทิศทางโดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.2% ในเดือน ก.พ. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่ายอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากพุ่งขึ้น 0.7% ในเดือน ม.ค. สำหรับการร่วงลงของยอดค้าปลีกในเดือน ก.พ. ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของยอดขายอาหาร และวัสดุก่อสร้าง แม้ว่ายอดขายรถยนต์ดีดตัวขึ้น  เมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือน ก.พ.

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวสู่ระดับ 55.3 ในเดือน มี.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.5 หลังจากแตะระดับ 54.2 ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2559 โดยการปรับตัวขึ้นของดัชนี ISM ได้รับผลบวกจากการดีดตัวของคำสั่งซื้อใหม่, การผลิตและการจ้างงาน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.71-31.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.77/31.79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (2/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1204/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/4) ที่ระดับ 1.1246/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโร ได้รับแรงกดดันจากการที่รัฐสภาอังกฤษลงมติไม่อนุมัติทางเลือกต่าง ๆ 4 ทางเลือกของกระบวนการที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งนำเสนอโดยจอห์น เบอร์คาว ประธานรัฐสภาอังกฤษ โดยทางเลือกดังกล่าวรวมถึงการที่อังกฤษยังอยู่ในตลาดเดี่ยวหรือจะเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) เพื่อให้คงการมีอยู่ของสหภาพศุลกากรกับ EU ต่อไป ซึ่งความล้มเหลวดังกล่าว นับเป็นครั้งที่ 2 ที่รัฐสภาอังกฤษปฏิเสธทางเลือกในการประชุมเพื่อโหวตหยั่งเสียงสนับสนุนในรัฐสภา โดยมีเป้าหมายที่จะผ่าทางตันของกระบวนการ Brexit ซึ่งรัฐบาลอังกฤษจะมีเวลาจนถึงวันที่ 12 เม.ย.นี้เท่านั้นว่าจะออกสหภาพยุโรปในรูปแบบใด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1191-1.1211 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1200/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (2/4) เปิดตลาดที่ระดับ 111.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/4) ที่ระดับ 110.02/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนได้รับแรงกดดันจากข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่งของสหรัฐและจีนที่ช่วยให้นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมถึงการเจรจาทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศดังกล่าวที่ดูมีทิศทางที่ผ่อนคลายลงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.29-111.42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.35/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.พ. (2/4) ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน มี.ค.จาก ADP (3/4) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน มี.ค. จากมาร์กิต (3/4) ดัชนีภาคบริการเดือน มี.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (32/4) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (4/4) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มี.ค. (5/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.40/-2.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรับ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ 0/1.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ