เร่งบูรณาการนำอาเซียน สู่ความรุ่งเรืองปีนี้ถึงอนาคต

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ธนาคารเอชเอสบีซี

ความมั่งคั่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุ่งเรืองสุดขีดหลังจากช่วงเลวร้ายของวิกฤตการเงินเอเชีย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่เวลาที่จะหมดกังวลและทำใจให้สบายได้ ในทางกลับกันผู้กำหนดนโยบายทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรจะเร่งผลักดันการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมการเปิดกว้างและการบูรณาการของอาเซียนในฐานะประธานอาเซียนในปี พ.ศ. 2562 ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) ประเทศไทยมองภาพอาเซียนในเชิงบวกโดยมุ่งให้ความสำคัญในหลายด้าน

ในที่นี้ ขอกล่าวถึงหัวข้อหลักที่สำคัญบางส่วนสำหรับอาเซียนในปี พ.ศ. 2562 และเหตุผล

– เพิ่มการค้าภายในภูมิภาคเพื่อชดเชยการชะลอตัวของการค้าโลก จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐอเมริกาและจีน และผลกระทบต่อการค้าเกิดขึ้นประจวบเหมาะกับการชะลอตัวตามวัฏจักรของการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหมวดสินค้าที่สำคัญที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไม่มีใครชนะในสงครามการค้า แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนสามารถชดเชยได้บ้างหากการเปลี่ยนวิถีห่วงโซ่อุปทานที่ถกเถียงกันอย่างมากย้ายจากจีน สหรัฐอเมริกา และเกาหลีไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจริงขึ้นมา

การเปลี่ยนวิถีห่วงโซ่อุปทานกำลังสร้างอานิสงส์ให้แก่เวียดนาม มาเลเซีย และไทย แต่การเพิ่มความสะดวกในการไหลเวียนสินค้าและบริการทั่วอาเซียนจะทำให้การเปลี่ยนวิถีห่วงโซ่อุปทานนี้แพร่กระจายเป็นวงกว้างขึ้น

ทั้งนี้ มีความคืบหน้าที่สำคัญ อาทิ การเตรียมออกโครงการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-wide Self-Certification Scheme) และการบังคับใช้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่จำเป็นเพื่อทำให้การไหลเวียนของสินค้าและบริการทั่วอาเซียนเป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งการบังคับใช้ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์แก่สมาชิกอาเซียนทุกประเทศ ทำให้ต้นทุนและระยะเวลาจัดการด้านศุลกากรเป็นมาตรฐานทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้ที่มีทักษะทางวิชาชีพอย่างเสรีทั่วภูมิภาค

ดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ภูมิภาคมากขึ้น จากการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคหลังวิกฤตการเงินโลกฟื้นตัวดีขึ้น แต่เงินลงทุนส่วนใหญ่กลับมุ่งไปยังสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ไม่ได้ไหลเข้าประเทศที่คาดว่าห่วงโซ่อุปทานจะเติบโตในอนาคต อย่างเช่น ไทย อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ ภายหลังการเจรจาที่ยืดเยื้อยาวนาน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งครอบคลุม 16 ประเทศ และคิดเป็นร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกกำลังใกล้จะได้ข้อสรุป ส่วนความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership : CPTPP) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา มีแนวโน้มจะขยายประเทศสมาชิกเพิ่มมากขึ้น โดยไทยได้ตั้งเป้าให้ความตกลงต่าง ๆ เหล่านี้เป็นข้อริเริ่มที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพของอาเซียน

การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล จากการขยายการเชื่อมโยงทางดิจิทัล (digital connectivity) และเพิ่มการลงทุนในด้านดิจิทัลของอาเซียน เพื่อสนับสนุนฐานลูกค้าที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของอาเซียน สามารถพลิกเกมและเปลี่ยนอนาคตได้

แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน พ.ศ. 2568 (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) ระบุว่า น่าจะมีการอัดฉีดเงินทุนประมาณ 220-650 พันล้านเหรียญสหรัฐ เข้าสู่อาเซียนภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่และเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ความก้าวหน้าด้านดิจิทัลในอาเซียนยังคงผสมปนเปกัน ตัวอย่างเช่น ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของ 5 ประเทศอาเซียน มีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 3 หรือน้อยกว่ายอดขายค้าปลีกโดยรวมเมื่อเทียบกับจีนที่ร้อยละ 23

อย่างไรก็ตาม ความตกลงทางด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนที่ลงนามกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน จุดประกายแห่งความหวัง แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การผลักดันความตกลงให้เป็นรูปธรรม

ผลักดันสู่อาเซียนที่ยั่งยืน เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีโอกาสประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุดในโลก โดยผลกระทบของภัยพิบัติสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม และยังถูกซ้ำเติมให้เลวร้ายลงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในการรับมือกับปัญหาประเทศไทยได้เน้นย้ำว่า การระดมทุนอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริงเป็นประเด็นที่จะมุ่งให้ความสำคัญในฐานะประธานอาเซียน นอกจากด้านสภาพอากาศแล้ว ในการพัฒนาสู่ความเป็นเมือง คำมั่นของประเทศไทยที่จะสานต่อเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network) ของรัฐบาลสิงคโปร์จะเป็นแรงผลักสำคัญ ซึ่งเป็นการพัฒนาเมืองนำร่อง 27 แห่งที่เป็นต้นแบบการสร้างเมืองที่เข้มแข็งและพร้อมสำหรับอนาคตมากขึ้น

จะไปทางไหนต่อจากนี้ ? ภูมิภาคอาเซียนจำเป็นต้องยกระดับขึ้นอีกขั้นเพื่อแสดงพลังทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยิ่งใหญ่มากขึ้น ท่ามกลางกระแสอนุรักษนิยมและการกระจายขั้วอำนาจเพิ่มขึ้นของโลก

อาเซียนกำลังมีเรื่องตื่นเต้นชวนติดตาม เนื่องจากการเลือกตั้งระดับชาติของหลายประเทศในอาเซียน รวมถึงการเลือกตั้งในมาเลเซียย้อนไปในปี พ.ศ. 2561 และไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียในปี พ.ศ. 2562 จะท้าทายให้หลายประเทศจับตามองถึงผลดีที่เกิดจากการปฏิรูป

อย่างไรก็ตาม องค์กรธุรกิจต่าง ๆ กำลังเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปที่จับต้องได้ ซึ่งจะทำให้การค้าในภูมิภาคอาเซียนเป็นไปอย่างราบรื่น กระตุ้นการลงทุนระหว่างประเทศ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืน การบรรลุเป้าประสงค์เหล่านี้ในปี พ.ศ. 2562 จะช่วยให้ภูมิภาคสามารถระดมทุนและสร้างเกราะกำบังตนเองจากกระแสโลกที่มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า