ฝรั่งเทขายหุ้นไทยสวนทางภูมิภาค กองทุนทั่วโลกพักรบรอการเมืองชัด

จับตาตลาดหุ้นไทยฝ่ามรสุมการเมือง เผย 3 เดือนแรกต่างชาติเทขายสุทธิกว่า 1.3 หมื่นล้าน สวนทางตลาดหุ้นเอเชียฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้ากว่า 3.4 แสนล้านบาท โบรกฯชี้เหตุการเมืองในประเทศไม่ชัดเจน-จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เผยแนวโน้มเดือน เม.ย.ตลาดหุ้นผันผวนต่อ บลจ.กสิกรไทยเผยผู้จัดการกองทุนทั่วโลกรอประเมินสถานการณ์ไตรมาส 2
ฝรั่งเทขายหุ้นไทยสวนภูมิภาค

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่า ภาพรวมของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (fund flow) ที่มีการซื้อ/ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 62 จนถึงสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา (YTD) ติดลบราว 1.3 หมื่นล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายหุ้นไทยต่อเนื่อง จากเดือน ม.ค. นักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิ 6.7 พันล้านบาท ก่อนจะเปลี่ยนมาขายสุทธิในเดือน ก.พ. 3.4 พันล้านบาท และเดือน มี.ค.ขายสุทธิกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท

“เดือน มี.ค.ฟันด์โฟลว์ไหลออกค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเป็นเดือนที่มีการเลือกตั้ง มีประเด็นความไม่แน่นอน หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดความวุ่นวาย หลังจากมีการตัดสินยุบพรรคการเมืองไปก่อนหน้า รวมทั้งสถานการณ์หลังการเลือกตั้งผ่านไป ยังไม่มีพรรคไหนที่ได้คะแนนพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องรีบซื้อหุ้นไทยในตอนนี้” นายวีระวัฒน์กล่าว

ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาค โดยใน 5 ตลาดหลักอย่าง เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ยังเห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้าอย่างต่อเนื่องจากต้นปี เป็นมูลค่ากว่า 3.4 แสนล้านบาท สะท้อนว่านักลงทุนยังให้น้ำหนักกับการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย แต่ตลาดหุ้นไทยอาจมีภาพอ่อนแอกว่าจากปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น หากมีความชัดเจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ คาดว่าตลาดจะกลับมาตอบรับในเชิงบวก

อย่างไรก็ตาม ฟันด์โฟลว์ในช่วงต้นปี 2562 มีแนวโน้มดีกว่าช่วงปี 2561 ที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยรวม 2.8 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 2.3 หมื่นล้านบาท ดังนั้น YTD ที่มีการขายหุ้นไทยออกเพียง 1.3 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นอัตราที่ชะลอลงค่อนข้างมากแล้ว

รับอานิสงส์ปรับดัชนี MSCI

นายวีระวัฒน์กล่าวว่า ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าในเดือน เม.ย.นี้ จะเห็นฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามา จากปัจจัยการปรับวิธีการคำนวณดัชนี MSCI ใหม่ ที่มีแผนจะนำส่วนที่ต่างชาติถือหุ้นไทยผ่านใบแสดงสิทธิ (NVDR) เข้ามาร่วมคำนวณด้วย ส่งผลให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นไทยในดัชนี MSCI Emerging Market (MSCI EM) ปรับเพิ่มขึ้นราว 0.5% จากเดิมที่ 2.5% ขึ้นมาอยู่ที่ 3% คาดว่าจะส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยราว 2.3 พันล้านเหรียญ หรือราว 7 หมื่นล้านบาท แต่ไม่ใช่การไหลกลับเข้ามาพร้อมกันครั้งเดียว

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ การปรับสูตรคำนวณใหม่จะประกาศในวันที่ 14 พ.ค. 62 และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน มิ.ย. 62 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 62 จะเริ่มเห็นการกลับเข้ามาของฟันด์โฟลว์บางส่วน เพื่อซื้อเก็งกำไรในกลุ่มหุ้นที่มีรายชื่อว่าจะได้รับการเพิ่มน้ำหนักการลงทุน หรือจะถูกนับเข้ามาคำนวณในดัชนีเพิ่มเติม

เม.ย.หุ้นเหวี่ยงลุ้นการเมือง

ADVERTISMENT

นายวีระวัฒน์กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือน เม.ย. 62 ประเมินว่า ดัชนีหุ้นจะยังแกว่งออกด้านข้าง (sideway) เพราะยังมีปัจจัยภายนอกที่ต้องติดตามต่อ ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัว การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ที่ยังคงไร้ความชัดเจน ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศ การจัดตั้งรัฐบาลอาจไม่ง่าย เพราะกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ต้องรอถึงวันที่ 9 พ.ค. 62 ดังนั้น เดือน เม.ย. 62 ตลาดหุ้นไทยจะยังได้รับแรงกดดันจากประเด็นนี้ตลอดทั้งเดือน

ด้านนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการและกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยว่า ทิศทางดัชนีหุ้นไทยในระยะสั้นมีแนวโน้มเป็นบวก หรือมีโอกาสกลับขึ้นไปยืนที่ 1,689 จุด ในช่วงไตรมาส 2/62 ขณะที่ทั้งปีดัชนีมีโอกาสแตะระดับ 1,740 จุด โดยจุดต่ำสุดระหว่างปีมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,583 จุด ส่วนจุดสูงสุดมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,764 จุด

“เรามองว่าเดือน พ.ค. ตลาดหุ้นไทยอาจได้รับแรงหนุนจากปัจจัยการเมือง เพราะเริ่มเห็นตัวเลข ส.ส.อย่างเป็นทางการ รวมทั้งกระบวนการให้ใบเหลือง ใบแดงจบลง ขณะที่ปัจจัยเชิงลบมีการรับรู้ไปมากแล้ว และที่สุดน่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ อาจใช้เวลา 2-3 เดือน ซึ่งระหว่างทางอาจมีกระแสข่าวออกมาทำให้หุ้นไทยเกิดแรงกระเพื่อม จนอาจเห็นแรงเหวี่ยงทำจุดต่ำสุดที่ 1,583 จุดได้ในช่วงไตรมาส 2”

ขณะที่ทิศทางฟันด์โฟลว์ยังคาดคะเนค่อนข้างยาก โดยที่ยังมีตัวแปรเชิงบวกที่จะได้รับ คือ การคำนวณดัชนี MSCI ใหม่ ซึ่งหลายสำนักประเมินว่าจะทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย

“แม้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติจะคาดคะเนยาก แต่ยังมีนักลงทุนสถาบันไทยที่มีทิศทางขยายตัวเป็นลำดับ เพราะในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2561) นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปประมาณ 6 แสนกว่าล้านบาท ผู้ที่มาค้ำยันไว้ได้ คือ นักลงทุนสถาบันไทย” นายสมบัติกล่าว

กองทุนทั่วโลกรอประเมิน Q2

นายวศิน วณิชย์วรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย เปิดเผยมุมมองการลงทุนของสถาบันว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2562 จะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่น การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เศรษฐกิจจีนที่เติบโตแบบชะลอลง และ Brexit เป็นต้น ขณะที่การลงทุนในตลาดทุนนั้นจะสังเกตเห็นว่า นักลงทุนยังมีการลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยลบที่เข้ามากระทบทั้งในประเทศ เช่น เรื่องเลือกตั้ง และปัจจัยต่างประเทศ รวมถึงการฟื้นตัวของตลาดในช่วงที่ผ่านมายังทำได้ไม่สูงมากนัก ส่งผลให้ผู้จัดการกองทุนทั่วโลกยังรอประเมินภาพรวมไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ก่อน เพื่อนำไปประเมินภาพรวมของตลาดทุนในปีนี้

ด้านนางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีถึง 1 เม.ย. 62 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย ประมาณ 13,280 ล้านบาท และขายสุทธิในตลาดพันธบัตร ประมาณ 39,603 ล้านบาท โดยมองว่าถ้าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐไม่น่าสนใจ ทำให้กระแสเงินอาจไหลกลับเข้ามาไทยได้ อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งกระแสเงินไหลเข้า-ออกของไทยยังคงนิ่ง เนื่องจากชาวต่างชาติรอดูความชัดเจนเรื่องการเมือง

“ปีนี้หุ้นไทยถือว่าน่าสนใจ ถ้ามีการสร้างบรรยากาศให้เกิดความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนได้ เพราะต่างชาติยังมองว่าไทยเป็นแหล่งลงทุนที่ดี” นางสาวกาญจนากล่าว

ขณะที่นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี”62 ลงมาที่ 3.7% จากเดิม 4.0% เป็นผลจากปัจจัยการส่งออกที่มีแนวโน้มที่ไม่ดี ผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีการปรับลดคาดการณ์ขยายตัวการส่งออกปี”62 ลงเหลือ 3.2% จากเดิม 4.5% พร้อมปรับลดคาดการณ์ขยายตัวนำเข้าเหลือ 4.3% จากเดิม 5.3% ส่วนทิศทางค่าเงินบาทปีนี้ยังคงมีความผันผวน และคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!