“บัณฑูร” วอนยุติขัดแย้งเพื่อปท.เดินหน้าต่อ เชื่อหลังพิธีมหามงคลจะตกลงจัดตั้งรัฐบาลได้

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งประเทศก็ต้องพัฒนาสินค้า และการบริการให้ดี เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศยังไม่เรียบร้อย แต่ก็เชื่อว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะประเทศจะต้องมีการจัดการ และอีกสักระยะก็จะมีการจัดตั้งรัฐบาล แม้ขณะนี้สถานการณ์ในแต่ละวันจะมีการพูดจาที่รุนแรงใส่กัน แต่มองว่าขณะนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องเดินหน้าต่อ และต้องจัดการให้ได้ แต่ก็ไม่ได้มีความกังวล เพราะเป็นสภาวะโดยทั่วไป และระบบประชาธิปไตยว่าเป็นอย่างไร แต่ในระยะหลังสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะสามารถบริหารจัดการได้ เพราะหากภาครัฐไม่ทำกรอบดำเนินงาน ประชาชนจะทำอย่างไรได้

“ประเทศต้องมีผู้จัดการประเทศ ต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลโครงการต่างๆ ถึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าไม่มีผู้จัดการประชาชนจะทำอย่างไร ทุกวันนี้บ้านเมืองไม่มีกฏเกณฑ์ ก็หวังว่าหลังงานพระราชพิธีมหามงคลจะเห็นบรรยากาศปูเสื่อนั่งคุยกัน มีอะไรก็ตกลงกันได้ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่ ก็หวังว่าจะสงบ” นายบัณฑูร กล่าว

ด้านนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อในปีนี้ ได้ตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 5-7% โดยแบ่งเป็นสินเชื่อรายใหญ่เติบโต 3-5% สินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโต 2-4% และสินเชื่อรายย่อยเติบโต 9-12% ซึ่งแนวทางในการธุรกิจของธนาคารก็คงมีแนวโน้มในทิศทางเดียวกันกับที่อื่นก็คือรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ จึงต้องเพิ่มช่องทางการปล่อยสินเชื่อให้เพิ่มขึ้น พร้อมพิจารณาสินเชื่อที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ซึ่งผลกระทบจากการเข้ามาของเทคโนโลยีนี้ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของธนาคาร แต่ก็เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

สำหรับสินเชื่อของธนาคารในช่วงไตรมาสแรก พบว่า ชะลอตามสถานการณ์ที่เป็นช่วงฤดูกาลที่ธุรกิจยังไม่ค่อยใช้เงินลงทุน และอยู่ระหว่างรอดูสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าครึ่งปีหลังน่าจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรกหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว โดยยังคงเป้าการปล่อยสินเชื่อรวมปีนี้ที่ระดับ 5-7% แม้ว่าจะมีการปรับลดประมาณจีดีพีลงเหลือ 3.7% จากเดิม 4.0% โดยเน้นการเติบโตของสินเชื่อทั่งในและต่างประเทศที่ยังมีการเติบโตได้