ธปท.จับมือแบงก์ชาติอาเซียน สร้างนวัตกรรมการเงินเชื่อมภูมิภาค

ประเด็นสำคัญในเวทีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 2-5 เม.ย.ที่ผ่านมา ณ จ.เชียงราย นั่นคือการประกาศความร่วมมือของธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์จากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ในการส่งเสริมพัฒนา “นวัตกรรมการชำระเงินที่มีการเชื่อมโยงในอาเซียน” (ASEAN Payment Connectivity) พร้อมกันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างธนาคารกลางของอาเซียน เพื่อส่งเสริมการชำระเงินและนวัตกรรมทางการเงินที่จะเป็นการเชื่อมโยงกันในภูมิภาค

ชูมาตรฐาน “อาเซียนเพย์เมนต์”

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียนจะเข้มแข็งขึ้น จากการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้า การลงทุน และบริการต่าง ๆ ในอาเซียนให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยธนาคารกลางในอาเซียนได้ทำงานร่วมกันสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และหนึ่งในเรื่องสำคัญ คือ การผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน และมาตรฐานกลางที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ (interoperability) สิ่งเหล่านี้จะช่วยเชื่อมโยงบริการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินในอนาคต

“ความร่วมมือของธนาคารกลางและสถาบันการเงินในภูมิภาค ในการเชื่อมโยงบริการชำระเงินและบริการทางการเงินระหว่างกัน จะช่วยทำให้ความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนเข้มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้น”

นายวิรไทกล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในอาเซียนเป็นความร่วมมือที่เกิดผลในทางปฏิบัติจริง ๆ เป็นความร่วมมือที่จับต้องได้ ทางด้านการชำระเงินและบริการทางการเงิน และนี่เป็นความร่วมมือที่ธนาคารกลางและสถาบันการเงินในอาเซียนได้ร่วมมือกันทำตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โดยความร่วมมือมีหลากหลายรูปแบบ และในที่สุดคงอยากเห็นความร่วมมือเป็นความเชื่อมโยงระบบการเงิน ที่ทำให้ระบบธนาคารไทย ในลาว ในกัมพูชา สามารถเชื่อมกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งต้องเริ่มจาก “มาตรฐาน” ที่ใช้เชื่อมโยงกันได้ ไม่ได้แยกวงใครวงมัน และอีกด้านที่เทคโนโลยีช่วยได้ คือ ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น การทำธุรกรรมช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ผู้ประกอบการรู้เลยว่าได้เงินเท่าไหร่ ทำให้ต้นทุนจะถูกลงมากทั้งในแง่อัตราแลกเปลี่ยนและต้นทุนการโอนเงิน

ลดความเสี่ยง-ลดต้นทุนธุรกรรม

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนั้นถ้าเอาเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพ และสามารถลดต้นทุนได้ ทั้งต้นทุนค่าอัตราแลกเปลี่ยน ที่หากมีความร่วมมือในอาเซียนในการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และต้นทุนการดำเนินการของการชำระเงิน ซึ่งการโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเป็นการโอนตรงระหว่างธนาคารกับธนาคาร สามารถลดตัวกลาง และส่งผลให้ลดค่าบริการได้

ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือของธนาคารกลางถือเป็นความร่วมมือในการพัฒนา และแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แต่ความร่วมมือในการพัฒนาให้เกิดขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาจะเกิดจากทางภาคเอกชน คือ ธนาคารพาณิชย์ และทางผู้ให้บริการชำระเงินที่เป็นน็อนแบงก์ หรือผู้ให้บริการเครือข่ายบัตร โดยมีธนาคารกลางเป็นผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะได้เห็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทยอยออกใช้ในวงกว้าง เนื่องจากหลายผลิตภัณฑ์ได้ทดสอบมาระยะหนึ่งแล้ว

แบงก์นำร่อง QR ชำระเงินข้าม ปท.

ความร่วมมือระหว่างไทยและประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ได้นำมาสู่นวัตกรรมทางการเงินและบริการชำระเงินระหว่างประเทศมากมาย อาทิ ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment ระหว่างกัมพูชาและไทย โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ได้พัฒนาและทดสอบให้บริการดังกล่าว กับสาขาของธนาคารในกัมพูชา อำนวยความสะดวกการชำระเงินรายย่อยระหว่างลูกค้าและร้านค้า

ขณะที่ ธนาคารกรุงเทพ ได้ร่วมกับผู้ให้บริการ Thai Payment Network และ UnionPay นำร่องทดลองให้บริการชำระเงินด้วย QR ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ช่วยให้ลูกค้าสามารถชำระเงินระหว่างประเทศผ่านเครือข่ายของ UnionPay โดยใช้แอป BBL BeWallet ที่สามารถใช้บริการในประเทศสิงคโปร์ ยกเครื่องธุรกรรมโอนเงินภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ด้วยบล็อกเชน เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ใช้เทคโนโลยี blockchain interledger เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถโอนเงินจาก สปป.ลาวมายังไทย และส่งต่อจากไทยไปยังสิงคโปร์ได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ ธนาคารกรุงไทย และ Shwe Bank เมียนมา พัฒนาบริการส่งเงินระหว่างประเทศ “Krungthai Bank and Shwe Bank Remittance Powered by Everex” ซึ่งจะให้ลูกค้าสามารถโอนเงินโดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ โดยผู้รับเงินในประเทศเมียนมาสามารถเลือกรับเงินได้หลายช่องทาง โดยจะเริ่มให้บริการในเดือน มิ.ย.นี้

ด้าน ธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมกับ ธนาคารดีบีเอส พัฒนาบริการรองรับการโอนเงินจากสิงคโปร์มาไทย ผ่านเทคโนโลยี API ซึ่งมีความพิเศษที่อนุญาตให้ผู้โอนสามารถตรวจสอบสถานะบัญชีของผู้รับโอนก่อนการโอนเงิน และสามารถโอนเงินได้สูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อรายการ รวมทั้งความร่วมมือในการให้บริการธุรกรรม L/C ระหว่างอินโดนีเซียและไทย ด้วย enterprise blockchain โดยธนาคารกรุงเทพร่วมกับกลุ่ม ปตท.ได้ทดสอบการทำธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการลดระยะเวลาในการดำเนินการ และงานเอกสารได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง

หนุนใช้สกุลเงินท้องถิ่นอาเซียน

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. กล่าวว่า ปีนี้ ธปท.เตรียมสานต่อความร่วมมือทางการเงินที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้า บริการและการลงทุน การเชื่อมโยงการชำระเงินรายย่อย และการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศ เป็นต้น

ธปท.ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้ามีทางเลือกในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรม เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ธปท.ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ ๆ สามารถเข้ามาให้บริการได้มากขึ้น โดยผ่อนคลายการประกอบธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ โดยลดคุณสมบัติของผู้ประกอบการจากเดิมที่ต้องมีคนไทยถือหุ้น 75% เป็น 25% ซึ่งจะเพิ่มการแข่งขันและพัฒนาการให้บริการมีประสิทธิภาพ และจะนำไปสู่ค่าธรรมเนียมที่ลดลง

นางจันทวรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการส่งเสริมการเชื่อมโยงทางการเงินแล้ว ก็ต้องเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบการเงินในอาเซียน เพื่อรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจการเงินโลก