Q1 มาร์เก็ตแคปหุ้นใหม่ 1 หมื่นล. จับตา 2 หุ้นใหญ่ “ค้าปลีก-อสังหา” เข้าปีนี้

ตลท.เผยปิดไตรมาสแรกหุ้นเข้าใหม่ 5 ราย มาร์เก็ตแคป 1.04 หมื่นล้านลั่นปีนี้จ่อเข้าอีกไม่ต่ำกว่า 12 ราย แย้มมีหุ้นใหญ่ธุรกิจ “ค้าปลีก-อสังหาฯ” 2 ราย ระดมทุน มั่นใจปีนี้ตลาดหุ้นจอง IPO โตกว่าปี’61 ฟาก “เอเซีย พลัส” ไม่กังวลตลาดหุ้นขึ้นๆ ลงๆ พร้อมเข็น “ALL-BC” เข้าตลาด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลรายชื่อบริษัทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือ ตลท. และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในปี 2562 พบว่ามีทั้งหมด 14 ราย โดยเป็นบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใน SET 4 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ 2 รายได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว ได้แก่ บมจ.ดูโฮม (DO) และ บมจ.วีรันดา รีสอร์ท (VRANDA) ส่วนอีก 2 รายอยู่ระหว่างยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ได้แก่ บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (AEC) และ บมจ.อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ (ILM)

ส่วนบริษัทที่จะเข้า mai มี 10 ราย โดยก.ล.ต. ได้อนุมัติแล้ว 7 ราย ได้แก่ บมจ.ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง (ACG) บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) บมจ.อรินสิริ แลนด์ (ARIN) บมจ.บูทิค คอร์ปอเรชั่น (BC) บมจ.ชิค รีพับบลิค (CHIC) บมจ.มิตรสิบ ลิสซิ่ง (MITSIB) และ บมจ.วี.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (VL) และอีก 3 รายอยู่ระหว่างยื่นไฟลิ่ง ได้แก่ บมจ.โรงพยาบาล อินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ (IMH) บมจ.หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) และ บมจ.เลเท็กซ์ ซิสเทมส์ (LS)

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท.กล่าวว่า นับจากต้นปีนี้ถึงสิ้นเดือนมี.ค. 2562 (Q1) มีหุ้นเข้า SETและ mai แล้ว 5 ราย (4 บริษัท กับอีก 1 ทรัสต์) โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ (market cap) รวมประมาณ 10,400 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วง 9 เดือนที่เหลือ คาดว่าจะมีหุ้นที่เข้าตลาดหุ้นไทยอีกอย่างน้อย 12 ราย ทั้งใน SET และ mai ดังนั้นเมื่อรวมทั้งปี คาดว่าหุ้นที่เข้าใหม่ (IPO) ในปีนี้จะสูงกว่าปี 2561 ที่มีหุ้นเข้าจดทะเบียนใหม่รวม 21 บริษัท (แยกเป็น บริษัทจดทะเบียน 17 ราย 1 กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ 3 ทรัสต์)

“เท่าที่เห็น ตอนนี้มีหุ้น market cap ขนาดใหญ่ 2 รายที่เตรียมเข้าจดทะเบียน โดยกระจายอยู่ในกลุ่มค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ โดยทั้งปี เรายังคาดไม่ได้ว่า market cap จะจบที่เท่าไหร่ เพราะการที่หุ้นจะเข้ามาซื้อขายในตลาดหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับ 3 องค์ประกอบ คือ 1.ความพร้อมของข้อมูล 2.ความต้องการใช้เงิน และ 3.สภาวะตลาด ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องการเมืองในประเทศและสภาวะเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนต้องดูทั้ง 3 องค์ประกอบ” นายแมนพงศ์กล่าว

นายเล็ก สิขรวิทย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทเตรียมนำหุ้นไอพีโอเข้าใน SET และ mai ราว 2-3 ราย โดยเตรียมนำหุ้น ALL ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้าจดทะเบียนใน mai กลางเดือน พ.ค. และคาดว่าจะสามารถนำหุ้น BC เข้าจดทะเบียนได้ทันในปีนี้

“หุ้นไอพีโอจะทยอยกลับเข้ามาอยู่แล้ว แต่ปกติจะเข้ามาหนาแน่นในปลายปี โดยส่วนตัวไม่ได้กังวลกับภาวะตลาด เนื่องจากเราเชื่อมั่นในตัวธุรกิจ ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นขึ้น ๆ ลง ๆ แบบนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง และเราไม่ได้ระดมทุนมากถึงคราวละ 1 แสนล้านบาท แต่ขนาดที่เรากำลังทำ สามารถระดมทุนได้สบาย ๆ ซึ่งหลังจากนี้เอเซีย พลัสยังมีไอพีโออีกหลายตัวที่จะทยอยดันออกมาในปีนี้ และเมื่อได้รับอนุมัติแล้วก็อยากเดินหน้าขายทันที โดยไอพีโอที่มีในไปป์ไลน์อาจมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ใกล้เคียงกับหุ้น ALL” นายเล็กกล่าว

ทั้งนี้ หุ้นที่เข้าซื้อขายวันแรก ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. มีจำนวน 4 บริษัท กับอีก 1 ทรัสต์ โดยเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน SET 2 ราย ได้แก่ บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เอส ไพรม์ โกรท (SPRIME) และ บจ.ใหม่ใน mai 3 ราย ได้แก่ บมจ.ซี เอ แซด (ประเทศไทย) (CAZ) บมจ.โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ (GSC) และ บมจ.เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ (SAAM)

ซึ่งจากข้อมูลราคา ณ 3 เม.ย. 62 พบว่าหุ้นที่ราคาซื้อขายวันแรกสูงกว่าราคาจองมีทั้งหมด 3 บริษัท ได้แก่ ZEN 15.20 บาท/หุ้น สูงกว่าราคาจอง 16.92% SPRIME 10.40 บาท/หุ้น สูงกว่าราคาจอง 4% และ GSC 2.04 บาท/หุ้น สูงกว่าราคาจอง 20%

ส่วนหุ้นที่ราคาซื้อขายวันแรกต่ำกว่าราคาจองมี 2 บริษัท คือ CAZ อยู่ที่ 3.60 บาท/หุ้น ต่ำกว่าราคาจอง 7.69% และ SAAM 1.52 บาท/หุ้น ต่ำกว่าราคาจอง 15.56% ซึ่งปัจจุบันยังไม่พ้นราคาจอง