เบื้องลึกควบรวม “บตท.” ซุกอก “ธอส.” สถานการณ์เปลี่ยน…แบงก์กอดหนี้ดี

แผนการควบรวมกิจการระหว่าง “ธนาคารอาคารสงเคราะห์” หรือ “ธอส.” กับ “บรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย” หรือ “บตท.” ได้ดำเนินการกันมาอย่าง “ลับ ๆ” มาระยะหนึ่งแล้ว กระทั่งมีข้อสรุปว่า การควบรวม จะเร่งให้เสร็จภายในปี 2562 นี้

โดยกระทรวงการคลังได้ยกร่างกฎหมายขึ้นมา เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ “ร่างกฎหมายเพื่อควบรวมกิจการสถาบันการเงินเฉพาะกิจ” รวม 4 ครั้ง ในช่วงต้นปี 2562 เริ่มครั้งแรก วันที่ 28 ก.พ., ครั้งที่ 2 วันที่ 5 มี.ค., ครั้งที่ 3 วันที่ 6 มี.ค. และครั้งที่ 4 วันที่ 11 มี.ค. 62

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ต้องการลดต้นทุนแบงก์รัฐที่มีการทำธุรกิจคล้ายกัน โดยเรื่องนี้หารือกันมาพักหนึ่งแล้ว เห็นว่าแนวโน้มการมี บตท.อยู่ คงไม่จำเป็น เพราะการทำธุรกิจตลาดรองสินเชื่อบ้าน จะเหมาะกับประเทศที่ไม่มีสภาพคล่อง ซึ่งการเกิด บตท.ขึ้นในประเทศไทย ก็เกิดขึ้นสมัยวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่สถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่มีสภาพคล่อง แต่มาถึงปัจจุบันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว

“ตอนนี้ไม่มีแบงก์ไหนยอมขายสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ บตท.กัน โดยเฉพาะของดีที่เสี่ยงเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) น้อย ยิ่งไม่มีใครยอมปล่อย ดังนั้นจึงหมดความจำเป็น แต่ว่าภารกิจตลาดรองก็จะยังอยู่ แต่ไปเป็น unit หนึ่งภายใต้ ธอส. เหมือนก่อนที่จะแยกมาตั้ง บตท.” แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อกลับไปดูผลดำเนินงานจากการทำธุรกิจของ บตท.ย้อนหลัง ช่วงปี 2556-2560 พบว่า ในปี 2556 บตท.ยังมีสินทรัพย์รวมแค่ 9,092.9 ล้านบาท จากนั้นก้าวกระโดดขึ้นเป็น 16,823.9 ล้านบาทในปี 2557 และก้าวกระโดดอีกในปี 2558 เป็น 24,878.7 ล้านบาท ส่วนปี 2559 เพิ่มเป็น 26,601.3 ล้านบาท และมาลดลงในปี 2560 เหลือ 20,160.8 ล้านบาท

ขณะที่หนี้สงสัยจะสูญก็เพิ่มอย่างก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน คือ ปี 2556 อยู่ที่ 29.1 ล้านบาท ปี 2557 อยู่ที่ 81.2 ล้านบาท ปี 2558 อยู่ที่ 170 ล้านบาท ปี 2559 อยู่ที่ 436.4 ล้านบาท และปี 2560 อยู่ที่ 115 ล้านบาท สอดคล้องกับกำไรสุทธิ ปี 2556-2560 อยู่ที่ 26.4 ล้านบาท, 70 ล้านบาท, 66.7 ล้านบาท, -73.4 ล้านบาท และ 26.3 ล้านบาท ตามลำดับ

โดย “วสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์” ที่เข้ามานั่งในตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการ บตท.เมื่อ ต.ค. 2559 ต้องเข้ามารับภารกิจ “เคลียร์” ปัญหาเก่า ๆ ที่เกิดจากการโหมซื้อพอร์ตสินเชื่อเข้ามาในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านั้น ปีละเกือบ 10,000 ล้านบาท ส่งผลให้ NPL พุ่งสูงเกินกว่า 10% และนับจากนั้น บตท.ก็แทบไม่ได้ซื้อพอร์ตสินเชื่อใหม่เข้ามาเลย มีเพียงการซื้อพอร์ตสินเชื่อ 111 ล้านบาท จากบริษัท เอ็ม บี เค การันตี จำกัด (MBK-G) เมื่อปี 2561 แถมยังต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการ/ข้อกำหนดการซื้อสินเชื่อให้เข้มงวดขึ้นอีกด้วย

ล่าสุด ผลงานปี 2561 ที่เพิ่งประกาศ บตท.มีกำไรสุทธิ 102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2560 โดยเป็นปีที่ บตท.มีกำไรสูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรมา ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานและการเร่งแก้ปัญหาหนี้ ขณะที่สินทรัพย์รวมลดลงมาอยู่ที่ 18,972 ล้านบาท


อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวกล่าวว่า คลังจะเสนอกฎหมายให้ทันคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบันนี้ แต่การผ่านร่างกฎหมายต้องรอรัฐสภาเปิด ซึ่งน่าจะเป็นในช่วงรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามา