Q1 กองทุนรวมไทยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.2 ล้านลบ.โต 3.5%

ภาพรวมการลงทุนในไตรมาสแรกนั้นเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของตลาด โดยในต่างประเทศมีปัจจัยบวกจากความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งท่าทีการชะลอตัวของการขึ้นดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีนี้ ทำให้คลายแรงกดดันที่มีต่อตลาดหุ้นลงไปได้บ้าง อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามการเติบโตเศรษฐกิจโลกที่ล่าสุดมีการปรับลดคาดการณ์โดย IMF ลงอีกครั้งเหลือ 3.3% จาก 3.5% สำหรับตลาดหุ้นไทยก็มีการปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดย SET Index ปิดที่ 1,638.65 จุด ณ สิ้นไตรมาส 1 หรือเพิ่มขึ้น +4.8%, และ SET TR +5.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2018

โดยอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิปิดที่ 5.2 ล้านล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 3.5% โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 3.9 หมื่นล้านบาท เป็นเงินไหลเข้าสุทธิในประเภทกองทุนรวมตราสารหนี้ 7.1 หมื่นล้านบาท และไหลออกจากกองทุนรวมหุ้น -1.4 หมื่นล้านบาท

อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย

หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลงมาตลอดทั้งปี 2018 ดัชนี SET Index เริ่มมีการฟื้นตัวใน 3 เดือนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับทิศทางการลงทุนต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม SET Index กลับมาเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างทรงตัวในเดือนมีนาคม โดยอาจเกิดจากปัจจัยในประเทศด้านสถานการณ์การเลือกตั้งที่นักลงทุนอาจรอความชัดเจนของทิศทางการจัดตั้งรัฐบาล

ในส่วนของแต่ละประเภทสินทรัพย์นั้น กองทุนตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกือบ 2.0 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากปีที่แล้ว ทำให้ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 47.5% ตามมาด้วยกองทุนประเภทตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 5.1% มาอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 28.2% ของมูลค่าตลาด ตามด้วยกลุ่มตราสารตลาดเงินที่มูลค่า 5.7 แสนล้านบาท ลดลง -3.4%

ปริมาณเงินไหลเข้า-ออกของกองทุน

ในไตรมาสแรกนี้ มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 3.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งนักลงทุนให้ความสนใจกับกองทุนตราสารหนี้ค่อนข้างมากโดยเฉพาะกองทุนรวมตราสารหนี้แบบกำหนดระยะเวลา (Term fund) ซึ่งกองทุนรวมตราสารหนี้ทั้งหมดมีเงินไหลเข้าสุทธิ 7.1 หมื่นล้านบาท โดยไหลเข้าสุทธิสูงสุดที่ 1.1 แสนล้านบาท ไปในกลุ่มกองทุน Foreign Investment Bond Fix Term ในขณะที่เป็นเงินไหลออกสุทธิจากตราสารทุน -1.4 หมื่นล้านบาท และถือว่าลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ในปีที่แล้วที่มีเงินไหลเข้าสูงกว่า 8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้หากแบ่งตามกลุ่ม Morningstar Category จะมีเงินไหลเข้าสุทธิเพียง 11 กลุ่ม และเงินไหลออกสุทธิในอีก 28 กลุ่ม

 

กองทุนเปิดใหม่

กองทุนรวมเปิดใหม่ 30 กอง (ไม่รวม Term Fund) รวมเงินไหลเข้ากองทุนใหม่ทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนหุ้น 15 กอง กองทุนผสม 11 กอง  กองทุนตราสารหนี้ 3 กอง และกองทุนตราสารตลาดเงิน 1 กอง

โดยกลุ่มกองทุนผสม แบบ Aggressive Allocation เป็นกลุ่มที่มีการเปิดกองทุนใหม่มากที่สุดจำนวน 10 กอง รวมมูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจากเงินไหลเข้าสุทธิ 2 กองทุนเป็นหลัก รวม 8.9 พันล้านบาท ส่วนกองทุนเปิดใหม่ประเภทตราสารทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 8.3 พันล้านบาท โดยกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดได้แก่ กลุ่ม Property Indirect – Global ซึ่งมีกองทุนเปิดใหม่เพียง 1 กองคือ TMB EASTSPRING Asia Pacific Property มีเงินไหลเข้าที่ 4.9 พันล้านบาท

หากดูการเติบโตของกลุ่มกองทุนตาม Morningstar category 10 กลุ่มแรก พบว่าอันดับมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยกองทุนกลุ่ม Short Term Bond ยังคงเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดที่ 9.2 แสนล้านบาท ลดลง -3.5% จากสิ้นปี 2018 กลุ่มกองทุนที่มีการเติบโตที่โดดเด่นได้แก่กลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term และ Aggressive Allocation มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 20.5% และ 18.7% ตามลำดับ ซึ่งเกิดจากปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิที่สูง ทำให้กลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term ขยับขึ้นมาเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงเป็นอันดับ 3 แทนกลุ่ม Money Market  สำหรับกองทุนหุ้นไทย ในกลุ่ม Equity Large-Cap และ Equity Small/Mid-Cap แม้ว่าทั้ง 2 กลุ่มจะมีเงินไหลออกสุทธิ แต่มูลค่าทรัพย์สินเติบโต 3.8% และ 3.3% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนการปรับตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงต้นปี

ทางด้านปริมาณเงินไหลเข้า/ออกสูงสุดนั้นกลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 1.1 แสนล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มกองทุนผสม Aggressive Allocation 2.1 หมื่นล้านบาท และหากดูในภาพรวมจะพบว่ากองทุนตราสารหนี้ที่มีเงินไหลเข้าสุทธินั้นล้วนแต่เป็นกองทุนตราสารหนี้ประเภท Term fund และกองทุนประเภทตราสารทุนส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นต่างประเทศเช่น Japan Equity, Global Equity และ ASEAN Equity

สำหรับเงินไหลออกนั้น กลุ่ม Short Term Bond เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุด -3.7 หมื่นล้านบาท ทำให้มีเงินไหลออกสุทธิ 4 ไตรมาสหรือ 11 เดือนติดต่อกัน รวมเป็นเงินไหลออกสุทธิทั้งสิ้น -1.9 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังคงหลีกเลี่ยงการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่ม Equity Large-Cap เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดในประเภทกองทุนตราสารทุนที่ -3.2 พันล้านบาท ซึ่งเกิดจากเงินค่าขายกองทุน LTF เป็นหลัก

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund)

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% โดยกองทุนผสมกลุ่ม Global Allocation มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุด 1.2 แสนล้านบาท ลดลง -4.2% กองทุนตราสารหนี้กลุ่ม Global Bond ยังคงมีมูลค่าทรัพย์สินสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 7.7 หมื่นล้านบาท ลดลง -4.6%  สำหรับกลุ่มตราสารทุนต่างประเทศยังคงมีมูลค่าทรัพย์สินเติบโตต่อเนื่อง โดยมี Property – Indirect Global เพิ่มขึ้น 5.7%, Global Equity เพิ่มขึ้น 13.5%, และ China Equity เพิ่มขึ้น 10.3%

ในไตรมาสที่ผ่านมากองทุนต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีเงินไหลออกสุทธิรวม -3.4 หมื่นล้านบาท โดยมีกลุ่มกองทุนต่างประเทศเพียง 3 กลุ่ม ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิซึ่งได้แก่ Japan Equity, Global Equity, และ ASEAN Equity รวม 1.2 พันล้านบาท ทางด้านเงินไหลออกสุทธิยังคงมีกลุ่ม Global Allocation -1.4 หมื่นล้านบาท Global Bond -6.2 พันล้านบาท ที่ติดอันดับเงินไหลออกสูงสุด อย่างไรก็ตามกลุ่ม China Equity และ Property – Indirect Global ที่เคยเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรกเมื่อปี 2018 เริ่มมีกระแสเงินไหลออกจากกองทุน ซึ่งอาจเกิดจากนักลงทุนขายทำกำไร โดยกลุ่ม China Equity และ Property – Indirect Global ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3 เดือนล่าสุดเท่ากับ 18.3% และ 11.6% ตามลำดับ โดยผลตอบแทนกองทุนหุ้นจีนที่สูงนั้นมาจากปัจจัยบวกเช่น การหันหน้าเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้ง MSCI ได้มีการเพิ่มน้ำหนักหุ้น A-Share ของจีนเข้าดัชนีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีแผนจะเพิ่มน้ำหนักเข้าดัชนีอีกในปีนี้ ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นจีนมากขึ้น โดยเห็นได้จากดัชนีที่ปรับตัวขึ้นมากกว่า 20% นับจากต้นปีที่ผ่านมา

5 อันดับกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) ที่มีเงินไหลเข้า-ออกมากที่สุดไตรมาสที่ 1/2019

ปัจจุบัน กองทุน FIF ที่ลงทุนในแบบ Feeder fund มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 1% จากสิ้นปี 2018 และมีเพียงกลุ่มตราสารทุนเท่านั้นที่มีมูลค่าทรัพย์สินปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 6.4% ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดอยู่ที่ 59% ของมูลค่ากองทุนที่ลงทุนผ่าน Master feeder scheme หรือราว 2.5 แสนล้านบาท ส่วนกลุ่มตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินลดลง -5.2% ไปที่ 7.8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้หากดูส่วนแบ่งตลาดตาม บลจ. นั้นจะพบว่าแม้ บลจ. PIMCO จะมีมูลค่าทรัพย์สินลดลงต่อในไตรมาสนี้ -4.8% แต่ยังรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดไว้ได้ ในขณะที่ BlackRock ซึ่งเป็นผู้นำตลาดประเภทกองทุนตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินเติบโต 1.6% และในไตรมาสนี้มีการเปลี่ยนแปลง บลจ. อันดับ 5 คือ บลจ. UOB มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นราว 8.7% จากไตรมาสที่แล้ว ทำให้สามารถขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 5 แทน Deutsche ได้ในไตรมาสนี้ รวม 5 บลจ. มีส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งของมูลค่าทรัพย์สิน ของ Feeder Fund ทั้งหมด

ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ

ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนรวมไทยในไตรมาสที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นภาพการฟื้นตัวของตลาด ซึ่งต่างจากไตรมาสที่ 4 ปี 2018 ที่กลุ่มกองทุนส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ โดยเกือบทุกกลุ่มให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกยกเว้นกลุ่มกองทุนทองคำ  -0.6% ส่วนกลุ่มที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดคือกลุ่มกองทุนน้ำมัน ที่ให้ผลตอบแทน 24.0% ตรงข้ามกับไตรมาสที่แล้วที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบสูงสุดที่ -37.0% สะท้อนความผันผวนของราคาน้ำมันในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มกองทุนที่มีอันดับผลตอบแทนเฉลี่ยรองลงมาได้แก่กลุ่ม China Equity 18.3%, Global Technology 16.9%, Europe Equity 12.6%, US Equity 12.3% เป็นไปตามการฟื้นตัวของตลาดหุ้นโดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ และจีนจากหลายปัจจัยเช่น การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนเรื่องการใช้ภาษีกับสินค้าของทั้ง 2 ประเทศ หรือการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed

หากดูผลตอบแทนเฉลี่ยสะสม 1 ปี กลุ่มกองทุน Property Indirect ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 17.1% ตามมาด้วยกลุ่มที่ลงทุนในต่างประเทศเช่น Property – Indirect Global 11.2%, Global Infrastructure 9.2%, Global Health Care 9.1%, US Equity 5.7% ในทางตรงกันข้ามกองทุนกลุ่มที่ลงทุนในหุ้นภูมิภาคเอเชียให้กลับผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบสูงสุด เช่น ASEAN Equity -13.3%, Equity Small/Mid-Cap -10.2%, Asia Pacific ex-Japan equity -9.3%, Emerging Market Equity -9.2%

สำหรับกองทุนหุ้นไทยกลุ่ม Equity Large-Cap แม้จะมีผลตอบแทนเฉลี่ย 3 เดือนที่ 4.4% (SET TR 5.8%) แต่ยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1 ปี ติดลบที่ -7.4% (SET TR -4.8%)

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF และRMF)

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF) มีมูลค่าทรัพย์สินรวมเกือบ 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากสิ้นปีที่แล้ว โดยกองทุนหุ้นใหญ่กลุ่ม Equity Large-Cap (ไม่รวม LTF – RMF) มีมูลค่าทรัพย์สิน 2.6 แสนล้านบาท เติบโต 5.8% และกองทุนกลุ่ม Equity Small/Mid-Cap 4.1 หมื่นล้านบาทเติบโต 1.9%

ด้านทิศทางเงินไหลเข้า-ออกสุทธิ กลุ่ม Equity Large-Cap มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.5 พันล้านบาท ต่างกับปีที่แล้วที่มีเงินไหลเข้าสูงจากสภาวะตลาดขาขึ้นในไตรมาสแรก แต่หากดูที่กลุ่ม Equity Small/Mid-Cap จะพบว่าไม่มีความแตกต่างกันมากนักจากปีที่ผ่านมา โดยมีเงินไหลออกสุทธิ -1.1 พันล้านบาท

ผลตอบแทนกองทุนหุ้นไทยกลุ่ม Equity Large-Cap ให้ผลตอบแทนสูงสุด 9.4% และ ต่ำสุดที่ 0.7% (เฉลี่ย 4.4%) คล้ายกับกลุ่ม Equity Small/Mid-Cap (เฉลี่ย 4.8%) ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 10.0% และต่ำสุด 0.5% หากดูในอดีตพบว่าผลตอบแทนกลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็กจะมีค่าผลตอบแทนสูงสุดที่สูงกว่ากลุ่มหุ้นใหญ่ อย่างไรก็ตามกลุ่มหุ้นกลาง-เล็ก มี Range หรือความต่างระหว่างผลตอบแทนต่ำสุด-สูงสุด และ Standard deviation ที่มากกว่ากลุ่ม Equity Large-Cap ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สะท้อนความเสี่ยงและความผันผวนของการลงทุนที่มากกว่า

กองทุนกลุ่ม LTF และ RMF

ปัจจุบันกองทุน LTF มีจำนวน 92 กอง รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากปี 2018 และ กองทุนกลุ่ม RMF มีจำนวน 212 กอง รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% แบ่งออกเป็น RMF – Equity 1.3 แสนล้านบาท หรือ 48.6% ของมูลค่ากองทุน RMF ทั้งหมด ตามมาด้วย RMF – Fixed Income มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 7.8 หมื่นล้านบาท หรือ 28.6% ของมูลค่ากองทุน RMF ทั้งหมด

ด้านเงินไหลเข้า-ออกกองทุน LTF ในไตรมาสแรกนั้นมีเงินไหลออกสุทธิ -6.4 พันล้านบาท น้อยกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วที่ -1.4 หมื่นล้านบาท โดยในไตรมาสแรกนี้มีกองทุน LTF เปิดใหม่ 1 กอง จาก บลจ. บัวหลวง ส่วนกองทุน RMF นั้นมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งหลัก ๆ มาจาก RMF – Equity 925 ล้านบาท และ RMF – Fixed Income 511 ล้านบาท และมีการเปิดกองทุน RMF-Allocation 1 กองทุนจาก บลจ. กรุงศรี ทำให้ในปัจจุบันมีจำนวนกองทุน RMF ทั้งหมด 212 กอง

 

ผลตอบแทนกองทุนประหยัดภาษีส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา นำโดยกองทุน RMF – Equity ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเกือบ 8% จากที่ติดลบในไตรมาสที่แล้ว ตามมาด้วยกองทุน LTF มีผลตอบแทนเฉลี่ย 4.4% โดยสาเหตุที่กองทุน RMF – Equity ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า LTF นั้นเกิดจากของผลตอบแทนกองทุนหุ้นต่างประเทศที่เป็นกองทุน RMF ที่ค่อนข้างสูง เช่น China Equity 16.8%, Global Technology 16.8%, Global

Equity 12.8% ทำให้ผลตอบแทนกองทุน RMF – Equity มีผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงกว่ากองทุน LTF ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

ส่วนแบ่งตลาดกองทุน LTF ยังคงมี บลจ. บัวหลวงเป็นผู้นำตลาดด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.1 แสนล้านบาทหรือ 28% ของมูลค่าตลาด บลจ. กสิกรไทย มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 8.2 หมื่นล้านบาท หรือ 21% ของมูลค่าตลาด และตามมาด้วย บลจ. กรุงศรี บลจ. ไทยพาณิชย์ และบลจ. ยูโอบี ที่ 16% 11% และ 7% ตามลำดับ รวมส่วนแบ่งตลาดของ 5 อันดับแรก 83%

ตลาดกองทุน RMF ก็มีผู้นำตลาดที่คล้ายกันกับกองทุน LTF เช่น บลจ. บัวหลวง 28%, บลจ. กสิกรไทย 21%, บลจ. กรุงศรี 12%, บลจ. ไทยพาณิชย์ 12% แต่ต่างกันที่อันดับ 5 คือ บลจ.ทหารไทย 6% รวม 5 บลจ. แรกมีส่วนแบ่งตลาดกองทุน RMF 81%

ปัจจุบันกองทุนธรรมาภิบาล (Corporate Governance) หรือการลงทุนแบบยั่งยืน (ESG) เริ่มมีมูลค่าทรัพย์สินที่สูงขึ้น โดยมีจำนวนทั้งหมด 17 กองทุน รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% จากปี 2018 มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทน 3 เดือนอยู่ที่ 5.4% และในจำนวน 17 กองทุนนี้มีถึง 10 กองทุนที่ได้ Morningstar Sustainability Rating อยู่ในระดับสูงหรือ 5 ลูกโลก ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยที่มีการให้ความสำคัญกับการลงทุนแบบยั่งยืน สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนกองทุน ESG ในต่างประเทศที่ได้รับความนิยมมากขึ้น