5 แบงก์ปล่อยกู้ SME จ่ายภาษี สรรพากรชี้ดบ.ต่ำ 5% ถูกกว่าจ่ายค่าปรับ

สรรพากรดึง 5 แบงก์ใหญ่ให้เอสเอ็มอีกู้จ่ายภาษี คิดดอกเบี้ย 5% ต่อปี ยันต่ำกว่าเสียเบี้ยปรับ-เงินเพิ่ม ชี้ไม่ลงทะเบียนใช้สิทธิใน 30 มิ.ย. 62 เจอเงินเพิ่มอ่วมตกปีละ 18% เบี้ยปรับอีก 1-2 เท่า “กสิกร” ให้กู้รายละ 3 ล้านบาท ฟาก “กรุงไทย” ให้นิติบุคคลกู้ได้ 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4%

นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ลงทะเบียนใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา พ.ศ. 2562 ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.นี้ ในกรณีที่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมจากการปรับปรุงแบบแสดงภาษี และงบการเงินให้ถูกต้องนั้น หากต้องการเงินมาจ่ายภาษี ก็สามารถกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์(แบงก์) 5 แห่ง ที่ได้ร่วมมือให้กู้ยืมแก่เอสเอ็มอีที่ทำบัญชีเดียว สำหรับนำเงินมาจ่ายภาษีได้ เพื่อไม่ให้กระทบสภาพคล่องของธุรกิจ

โดยแบงก์เห็นร่วมกันคิดอัตราดอกเบี้ยราว 5% ต่อปี ถือว่าถูกกว่ามาก เมื่อเทียบกับเงินเพิ่มที่ผู้ประกอบการต้องเสียตก 18% ต่อปี (1.5% ต่อเดือน) และยังมีเงินเพิ่มอีก 1-2 เท่าของภาษีที่ชำระไว้ไม่ครบ

“ตอนนี้ ถ้าผู้ประกอบการเข้ามาทำให้ถูกต้อง นอกจากจะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มแล้ว ยังสามารถกู้ยืมเงินแบงก์เพื่อใช้จ่ายภาษีได้ แต่ถ้าพ้นจากวันที่ 30 มิ.ย. 2562 ผู้ประกอบการต้องเสียเงินเพิ่มรวม 18% ต่อปี พร้อมเบี้ยปรับอีก” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

นายพจนารถ แสงพฤกษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานผลิตภัณฑ์ บรรษัท และผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า 5 แบงก์ใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่า จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีภาระเสียภาษีจากการเข้าร่วมมาตรการทำบัญชีชุดเดียว โดยมาตรการระยะสั้น คือให้สินเชื่อเพื่อชำระภาษี ซึ่งเงื่อนไขการกู้จะขึ้นกับแต่ละแบงก์

สำหรับธนาคารกสิกรไทยจะให้วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก หลังจากนั้นคิดที่อัตราดอกเบี้ยลอยตัว เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเงินไปใช้ชำระภาษีเพิ่มเติมจากการปรับปรุงแบบ

“ช่วงนี้เป็นช่วงเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง โดยไม่มีเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ซึ่งเราเข้าใจว่าจะมีเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบค่อนข้างมาก และอาจต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งที่มาเสียภาษี ดังนั้น แบงก์ใหญ่ 5 แบงก์ จึงมีการให้วงเงิน เพื่อไม่ให้ลูกค้ามีปัญหาสภาพคล่อง”

ส่วนมาตรการระยะยาว การให้สินเชื่อจะขึ้นอยู่กับแต่ละแบงก์ ซึ่งวงเงินสินเชื่อจะเป็นไปตามความเสี่ยง โดยเชื่อมั่นว่า เมื่อทำบัญชีและมีงบการเงินที่ถูกต้องแล้ว แบงก์จะแข่งขันกันให้กู้ด้วยเงื่อนไขที่ดีแน่นอน เพราะแบงก์รอให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวมานานแล้ว เนื่องจากการมีหลายบัญชีก็เป็นต้นทุนทั้งของผู้ประกอบการและธนาคารด้วย

“ถ้าทำบัญชีถูกต้อง ผู้ประกอบการจะสวยเลือกได้ เพราะธนาคารจะแข่งขันกันเข้าไปให้บริการ ก็จะส่งผลต่อวงเงินที่จะได้รับเพิ่มขึ้น หรือหลักประกันที่จะลดลง หรือไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะต่ำลง ส่วนผู้ที่ทำไม่ถูกต้อง หลบ ๆ ซ่อน ๆ ก็จะมีความเสี่ยงด้านภาระภาษีตามมาในอนาคต เพราะเทคโนโลยีในการตรวจสอบก็พัฒนาขึ้น ดังนั้น ธนาคารก็คงถอย ๆ ออกมาจากกลุ่มเสี่ยงนี้” นายพจนารถกล่าว

รายงานแจ้งว่า ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย ได้ออกผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อ SME เพื่อชำระภาษี” โดยกรณีบุคคลธรรมดา จะคิดอัตราดอกเบี้ย MRR-2.12% (MRR=7.12%) หรือเริ่มต้นที่ 5% วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย ส่วนกรณีนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย MRR-3.12% หรือเริ่มต้นที่ 4% วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ทั้งนี้ วงเงินสูงสุดจะให้ไม่เกินยอดภาษีที่ต้องชำระต่อกรมสรรพากร หากไม่มีหลักประกัน สามารถให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันให้ได้ ซึ่งจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันสูงสุด 2 ปี


ทั้งนี้ กรมสรรพากรรายงานว่า การชำระภาษีให้ถูกต้องตามมาตรการนี้ ผู้ประกอบการไม่สามารถผ่อนชำระได้ ดังนั้น หากกลัวว่าจะขาดสภาพคล่อง ก็สามารถใช้เงินกู้จาก 5 แบงก์ข้างต้นนี้ได้