“ไทย-สิงคโปร์” เชื่อมระบบเพย์เมนต์ใช้ข้ามประเทศปีหน้า

แบงก์ชาติ ผนึกธนาคารกลางสิงคโปร์ เดินหน้าเชื่อมระบบชำระเงิน “พร้อมเพย์-เพย์นาว” ใช้ข้ามประเทศ คาดเปิดให้บริการไตรมาส 2 ปีหน้า ฝั่งธนาคารกลางของมาเลย์ สนใจร่วมวงเชื่อมระบบด้วย หนุนธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีต้นทุน “ทำธุรกรรมการเงิน” ต่ำลง มั่นใจค่าฟีถูก-ได้รับเงินถึงมือเร็วกว่าเดิม

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.กำลังดำเนินการเชื่อมต่อระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “PromptPay” (พร้อมเพย์) กับระบบ “PayNow” ของธนาคารกลาง ประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานระหว่างประเทศได้ โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ภายในไตรมาส 2/2563

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ธนาคารกลางของมาเลเซียก็ได้แสดงเจตนาจะเข้าร่วมเชื่อมต่อระบบการชำระเงินด้วยกัน

“มองว่าต่อไประบบการชำระเงินของแต่ละประเทศจะเชื่อมต่อกันได้ ผ่านการผลักดันให้มีแพลตฟอร์มกลางหรือเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้เชื่อมโยงกันได้ แต่ในส่วนของอินฟราสตรักเจอร์ (โครงสร้างพื้นฐานของระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์) ของแต่ละประเทศ ก็อาจจะแตกต่างกันได้ เนื่องจากแต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาไม่เท่ากัน และกว่าจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานกลางเสร็จอาจจะล้าสมัยไปแล้วก็ได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำอินฟราสตรักเจอร์กลาง” นายวิรไทกล่าว

สำหรับการเชื่อมระบบชำระเงินดังกล่าวนั้น จะมีหลายรูปแบบ เช่น การใช้คิวอาร์โค้ดในการชำระเงิน จะสามารถทำจากประเทศหนึ่งไปเชื่อมอีกประเทศหนึ่งในลักษณะ bank to bank หรือทำผ่านระบบของที่อื่น เช่น Be-Wallet ที่ธนาคารกรุงเทพทำนั้นจะเป็นการทำผ่านเครือข่าย UnionPay ที่วางระบบไว้แล้ว ดังนั้น อาจจะไม่จำเป็นต้องมีโซลูชั่นเดียว เพราะแต่ละกลุ่ม segment ก็มีความต้องการโซลูชั่นที่ต่างกัน เช่น บางคนอาจโอนเงินมาก บางคนโอนน้อย ก็ต้องการความปลอดภัยในการชำระเงินคนละแบบ

อย่างไรก็ตาม จากการทำการเชื่อมต่อระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ จะช่วยในการพัฒนาด้าน business rules (กฎเกณฑ์ทางธุรกิจ) ซึ่งอาจจะมีข้อตกลงเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในอนาคต ก็จะส่งผลเรื่องที่ตกลงไว้แล้วสามารถจะดำเนินการได้อย่างเร็ว

“ต่อไปจะเป็น immediate payment ที่สร้างความสะดวกในการชำระเงินมากขึ้น เพราะทุกวันนี้อย่างเอสเอ็มอีขายของโอนเงินไปสิงคโปร์ ถ้าจะเอาเร็วก็ต้องไปโอนเสียค่าธรรมเนียมแพง ๆ และรับเงินปกติอาจใช้เวลา 2-3 วัน ต่อไปจะช่วยลดค่าธรรมเนียม และทำให้ได้รับเงินเร็วขึ้นด้วย การจะไปกู้เงินเพื่อมาบริหารสภาพคล่องก็จะทำได้สะดวกและง่ายขึ้น ดังนั้น จะเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินในเรื่องของการทำธุรกรรมข้ามประเทศ และคนที่ได้ประโยชน์เป็นอย่างมากคือ ประชาชนที่เป็นเอสเอ็มอี นักท่องเที่ยว และแรงงานต่างด้าว” นายวิรไทกล่าว

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ ธปท. เปิดเผยว่า ในเรื่องการเปิดการค้าเสรีและบริการทางการเงิน ฉบับที่ 8 ได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างไทยและมาเลเซียในการเปิดเสรีในการจัดตั้ง Qualified ASEAN Banks (QABs) ซึ่งต่อไปต้องรอผ่านสภา และจากนั้นจะเป็นการทำสัตยาบันซึ่งหากเรียบร้อยแล้วแต่ละประเทศต้องประกาศเกณฑ์ตามที่ตกลงว่าจะรับสมัครอย่างไร ทั้งนี้ สำหรับอินโดนีเซีย พม่า และฟิลิปปินส์กำลังอยู่ในขั้นตอนการหารืออยู่