หนี้ครัวเรือนขึ้นต่อ 2 ไตรมาส เร่งกู้บ้านหนี LTV-ลีสซิ่งรถมอเตอร์โชว์

แบงก์ชาติชี้เทรนด์หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสแรก ผลของเร่งกู้บ้านหนีมาตรการ LTV จับตาหลายปัจจัยกดดันไตรมาส 2 เร่งตัว จับตายอดซื้อรถงานมอเตอร์โชว์ การทำแคมเปญของสินเชื่อรายย่อย แบงก์ไทยพาณิชย์ลุ้น ธปท.คลอดเกณฑ์คุมสินเชื่อรถ สกัดก่อหนี้สูง ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดปีนี้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีทรงตัว

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในไตรมาสแรกปีนี้ คาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงที่มีการเร่งอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน ก่อนที่มาตรการควบคุมสัดส่วนสินเชื่อบ้านต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย. 62 ทำให้สัญญาณการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องตามทิศทางการปรับเพิ่มขึ้นของยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย

สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 2/62 หนี้ครัวเรือนยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่จะเร่งตัวขึ้นหรือชะลอตัวลง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การปรับตัวหลังมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ โดยจะเห็นการชะลอตัวของสินเชื่อบ้านหลังเร่งกู้ซื้อบ้านไปก่อนหน้านี้, การขยายตัวของสินเชื่อรถ ซึ่งจบงานมอเตอร์โชว์ ไปเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 62 มียอดจองรถและรถจักรยานยนต์สูงราว 49,000 คัน และการทำตลาดของสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินที่อาจกระตุ้นการก่อหนี้เพิ่มขึ้น และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ข้อมูล ธปท.ระบุว่า ไตรมาส 4/61 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 12.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78.6% ต่อ GDP โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัว 6% เพิ่มขึ้นเกือบทุกพอร์ตโดยเฉพาะเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคล

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสูงสุด EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในปีนี้คาดว่าจะทรงตัว หลังจากมีการเร่งตัวไปเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ทั้งจากการกู้ซื้อรถและการเร่งโอนอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ทิศทางการใช้จ่ายในปีนี้มีการชะลอตัวลง โดยที่ผ่านมาจะเห็นสินเชื่อเพื่อการบริโภคได้มีการเติบโตต่อเนื่อง และเป็นสินเชื่อที่เอื้อต่อการใช้จ่ายของประชาชนทั้งนั้น แต่เมื่อ ธปท.มีมาตรการ LTV ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยออกมา ประกอบกับสินเชื่อรถยนต์ที่ทาง ธปท.กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการออกมาตรการมาควบคุมให้เกิดความเหมาะสมอยู่นั้น ทำให้แนวโน้มสินเชื่อน่าจะชะลอลงในระยะข้างหน้า

“สิ่งที่เกิดขึ้น 1-2 ปีที่ผ่านมา หนี้ภาคครัวเรือนสูงกว่ารายได้ของครัวเรือน ในอนาคตเราเชื่อว่าหนี้ครัวเรือนน่าจะชะลอ เพราะมีการก่อหนี้มากขึ้นในช่วงก่อนหน้าแล้ว และปกติคนเราไม่สามารถกู้มากกว่ารายได้ได้ตลอดไป ถึงจุดหนึ่งจะต้องเพิ่มรายได้เพื่อมาจ่ายเงินกู้ ดังนั้น ถ้ารายได้ไม่ขึ้นเร็วพอ คนก็จะใช้จ่ายน้อยลง” นายยรรยงกล่าว

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ เนื่องจากเร่งปล่อยสินเชื่อเมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งสินเชื่อบ้านที่มีการปรับเกณฑ์วางเงินดาวน์สำหรับการซื้อบ้าน ทำให้ประชาชนเร่งตัดสินใจก่อหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และเร่งโอนบ้านให้แล้วเสร็จก่อนที่มาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ รวมถึงการก่อหนี้โดยการซื้อรถในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อรถขยายตัวถึง 12.3% ทำให้ประชาชนมีภาระการผ่อนชำระหนี้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปีนี้จะมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ระดับ “ทรงตัว” ในกรอบประมาณ 77.5-79.5% ต่อ GDP ภายใต้การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ท่ามกลางภาระหนี้ของครัวเรือนที่คาดจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากผลของการก่อหนี้ก้อนใหญ่ เช่น หนี้บ้านและหนี้รถ ที่จะมีผลผูกพันระยะเวลาหลายปี ดังนั้น

อาจส่งผลให้ภาคครัวเรือนหลายส่วนจะต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นในการก่อหนี้ก้อนใหม่ อีกทั้งยังต้องติดตามมาตรการด้านเศรษฐกิจภายใต้การดำเนินการของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งน่าจะเข้ามาช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ และดูแลด้านรายได้-ภาระหนี้ครัวเรือน กลุ่มที่มีรายได้น้อย