คลังจ้องดันกม.ค้างท่อชงรัฐบาลใหม่

คลังตั้งท่าชงรัฐบาลใหม่ดันกฎหมายค้าง สศค.ลุยเสนอร่าง พ.ร.บ. “กบช.-ทรัสต์ส่วนบุคคล” ทันที ทบทวน “ภาษีลาภลอย” โยนขุนคลังคนใหม่เคาะ ขณะที่สรรพากรเล็งปรับร่างกฎหมายภาษีอีบิสซิเนสให้ครอบคลุมทุกประเภทภาษีจัดเก็บอีคอมเมิร์ซต่างชาติ

นายอรรถพล อรรถวรเดช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สศค.มีกฎหมายที่มีความสำคัญที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะผลักดันเดินหน้าต่อทันที เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ หรือมีการเปิดประชุมสภา เพื่อพิจารณากฎหมาย คือ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) และร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล ซึ่งทั้ง 2 ฉบับนี้ปัจจุบันอยู่ในขั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ หรือภาษีลาภลอย นั้นอาจจะต้องกลับมาเสนอ รมว.คลังคนใหม่ พิจารณาทบทวนว่าจะยังคงผลักดันหรือไม่

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกรรมทางการเงินการธนาคาร) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมสรรพากรจะทบทวนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) เพื่อเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณา โดยจะปรับปรุงให้ครอบคลุมการจัดเก็บภาษีทั้งระบบ คือ ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่าง ๆ จากที่ผ่านมาที่เสนอร่างกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการในต่างประเทศ

“ร่างกฎหมาย e-Business ที่ผ่านมา อยู่ในขั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา แต่เมื่อมีรัฐบาลใหม่ ทางกรมก็คงพิจารณาเสนอให้ครอบคลุมทุกประเภทภาษี” นายปิ่นสายกล่าว

นายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างกฎหมาย e-Business ที่ยังค้างอยู่ คงต้องรอดูว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีนโยบายอย่างไร โดยทางกรมสรรพากรก็คงต้องนำกลับมาปรับให้ครอบคลุมทุกประเภทภาษีที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอใหม่

นายสาโรชกล่าวด้วยว่า สำหรับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 47) พ.ศ. 2561 หรือมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (transfer pricing) ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 2561 โดยการให้บริษัทที่เข้าข่ายต้องส่งข้อมูลจะเกิดขึ้นใน 150 วัน พร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ดังนั้นก็จะเป็นประมาณเดือน พ.ค. 2563

“กฎหมาย transfer pricing จะใช้บังคับกับรอบปี 2562 เป็นต้นไป ซึ่งจะยื่นในเดือน พ.ค.2563” นายสาโรชกล่าว

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้บริษัทที่มีรายได้เกินกว่า 200 ล้านบาทขึ้นไป ที่มีความสัมพันธ์กันตามที่กฎหมายกำหนด ต้องยื่นข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทในเครือให้แก่กรมสรรพากร