ชงเว้น พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ประกันป่วนขอยึดแนว “สิงคโปร์-มาเลย์”

สมาคมประกันชีวิตไทย ชง คปภ. “ยกเว้น” ข้อห้ามขอข้อมูลจากบุคคลภายนอกกับธุรกิจประกันภัย ชูโมเดลกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ “สิงคโปร์-มาเลเซีย” เป็นแนวทาง คาดสรุปครึ่งปีหลัง “เลขาฯ คปภ.” รับลูกตั้งคณะทำงานร่วมกับเอกชนเร่งพิจารณา พร้อมเล็งใช้อำนาจนายทะเบียนแชร์ข้อมูลฉ้อฉลให้ภาคธุรกิจ

แหล่งข่าวสมาคมประกันชีวิตไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว แต่ยังให้เวลาภาคธุรกิจได้ปรับตัวในเวลา 1 ปี ซึ่งธุรกิจประกันภัยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ในกรณีที่มีการห้ามขอข้อมูลจากบุคคลภายนอกนั้น ขณะนี้สมาคมได้นำตัวอย่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการขอให้ทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พิจารณาออกกฎหมายลูก เพื่อยกเว้นการห้ามธุรกิจประกันภัยขอข้อมูลจากบุคคลภายนอก

“สมาคมจะเสนอให้ คปภ.กำหนดข้อยกเว้นในส่วนธุรกิจประกันภัยสำหรับกรณีการขอข้อมูลจากบุคคลภา นอก เช่น เมื่อบริษัทประกันภัยต้องขอข้อมูลลูกค้าจากโรงพยาบาล ซึ่งเป็นข้อมูลที่จำเป็นต้องมี เพื่อนำมาพิจารณาคุณสมบัติในการพิจารณารับประกันภัย ทั้งนี้ คาดว่ารายละเอียดต่าง ๆ จะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในครึ่งหลังปี 2562 นี้”

แหล่งข่าวกล่าวว่า การนำตัวอย่างจากต่างประเทศมาพิจารณา จะง่ายกว่าที่จะต้องมาคิดริเริ่มเอง โดยกฎหมายของ 2 ประเทศดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะ ที่ระบุชัดเจนว่า “หากมีการให้ความยินยอม (ให้ข้อมูลแก่บริษัทประกันภัย) แล้ว ผู้เอาประกันจะไม่สามารถขอเพิกถอนระหว่างทางได้ เว้นแต่บริษัทประกันภัยนำข้อมูลผู้เอาประกันไปใช้ผิดวัตถุประสงค์”

“บริษัทประกันควรจะสามารถนำข้อมูลไปใช้พิจารณารับประกันภัยหรือการพิจารณาเคลมได้ ไม่ใช่ถูกยกเลิกระหว่างทาง โดยเรื่องนี้หากจะออกแนวปฏิบัติก็ควรจะยึดตามไกด์ไลน์ของสิงคโปร์และมาเลเซีย เพื่อไม่ให้กระทบธุรกิจประกัน” แหล่งข่าวกล่าว

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า การประชุมร่วมกับผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามสัญญา หรือข้อมูลที่สามารถส่งไปให้ คปภ. หรือศูนย์กลางข้อมูลทางด้านประกันภัย (Insurance Bureau System) ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ว่าเป็นข้อมูลลักษณะใดบ้าง ทำให้สามารถคลายความกังวลเรื่องนี้ได้ เพราะหากธุรกิจต้องไปขอคำยินยอมจากผู้เอาประกันทั้งหมดจะวุ่นวายมาก

“เบื้องต้นคาดว่าข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้ได้ อาทิ ข้อมูลที่จะไปทำสถิติหรือคำนวณเบี้ย, ข้อมูลที่จะส่งให้ประกันภัยต่อ, ข้อมูลการทำประกันภัยร่วม อย่างไรก็ดี หลังจากนี้แต่ละบริษัทจะต้องไปเพิ่มเติมข้อความในใบคำขอทุกประเภทเพื่อให้ลูกค้าทราบด้วย” นายอานนท์กล่าว

ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า คปภ.ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยขณะนี้กำลังเร่งศึกษารายละเอียดของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก่อนจะมีผลบังคับใช้จริงในอีก 1 ปี ซึ่ง คปภ.จะต้องยกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดข้อยกเว้น และเก็บข้อมูลเพื่อบริการประชาชนหรือป้องกันปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งข้อเสนอของภาคธุรกิจจะเข้าข่ายข้อยกเว้นหรือทำได้แค่ไหนนั้น จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปรายละเอียดออกมาให้ชัดเจนก่อน

“เช่น คำจำกัดความ ข้อมูลส่วนบุคคล ก็ต้องตีความว่าอะไรทำได้ หรืออะไรทำไม่ได้ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยเราต้องคุยกับภาคธุรกิจ และไปหารือกับกระทรวงการคลังก่อนจะออกเป็น พ.ร.ฎ.ออกมา” นายสุทธิพลกล่าว

นอกจากนี้ ผู้เกี่ยวข้องยังหารือกันด้วยว่า จะทำอย่างไรให้ คปภ.สามารถแชร์ข้อมูลให้ภาคธุรกิจได้ เช่น ข้อมูลฉ้อฉลประกันภัย เป็นต้น รวมถึงการส่งข้อมูลไปอินชัวรันซ์บูโร เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ยกเว้นให้ คปภ.เช่นกัน ดังนั้น หากเกิดข้อมูลรั่วไหล ความรับผิดก็จะตกอยู่ที่ คปภ. ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าการแชร์ข้อมูลดังกล่าวน่าจะสามารถใช้อำนาจการเป็นนายทะเบียนเพื่อดำเนินการได้