ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง หลังวันหยุดสงกรานต์

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 17-19 เมษายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันพุธ (17/4) ที่ระดับ 31.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (12/4) ที่ระดับ 31.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบจากธุรกรรมที่เบาบางเนื่องในวันหยุดยาวสงกรานต์ ก่อนที่ค่าเงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงท้ายสัปดาห์จากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินยูโร ถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่าผลผลิตภาคโรงงานของสหรัฐ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสแรกปรับตัวลดลงจากไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังเปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขต หรือ “Beige Book” ซึ่งระบุว่า ตลาดแรงงานทั่วประเทศยังคงอยู่ในภาวะตึงตัว จากการที่ธุรกิจในเขตต่าง ๆ ส่วนใหญ่ได้รายงานถึงภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ส่วนใหญ่ในภาคการผลิตและก่อสร้าง แต่ยังรวมถึงแรงงานด้านเทคนิคและด้านวิชาชีพ โดยบริษัทต่าง ๆ รับมือกับภาวะตลาดแรงงานตึงตัวด้วยการเพิ่มเงินโบนัสและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงการปรับขึ้นค่าจ้างปานกลาง ส่งผลให้ค่าจ้างทั้งของแรงงานที่มีทักษะและไม่มีทักษะปรับตัวขึ้นปานกลางในเขตต่าง ๆ โดยมีเพียง 3 เขตที่รายงานค่าจ้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่การจ้างงานปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ในตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะสูง

แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงติดตามประเด็นเกี่ยวกับการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ในเมื่อวันพุธ (17/4) มีสื่อต่างประเทศรายงานว่านายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าของสหรัฐและนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ กำลังวางแผนที่จะเดินทางไปยังกรุงปักกิ่งในวันที่ 29 เมษายน เพื่อที่จะบรรลุข้อตกลงกับจีนภายในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนอาจลงนามในข้อตกลงดังกล่าวภายในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ส่วนในวันศุกร์ (19/4) ค่าเงินดอลลาร์ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ จากแรงหนุนของตัวเลขเศรษฐกิจที่มีทิศทางไปในทางบวก หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกปรับตัวสูงขึ้นถึง 1.6% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 จากแรงหนุนของการดีดตัวขึ้นของยอดขายรถยนต์ และเสื้อผ้า

นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงถึง 5,000 ราย สู่ระดับ 192,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2512 และเป็นการลดลงติดต่อกัน 5 สัปดาห์ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.74-31.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (12/4) ที่ระดับ 31.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันพุธ (17/4) ที่ระดับ 1.1265/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/4) ที่ระดับ 1.1311/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงตั้งแต่ในช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากผู้กำหนดนโยบายบางคนของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) แสดงความคิดเห็นว่าอีซีบีคาดการณ์เศรษฐกิจในทางบวกมากเกินไป

นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจของเยอรมนีที่ปรับตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เมื่อวันพฤหัสบดี (18/4) กระทรวงฝ่ายกิจการเศรษฐกิจและพลังงานของเยอรมนีได้แถลงปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีในปีนี้ลงสู่ระดับร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งที่สองในปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 1 โดยกระทรวงระบุว่า เศรษฐกิจเยอรมนีได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ และประเทศคู่ค้า รวมทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคบริการและภาคผลิตของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปล้วนปรับตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องก่อนธุรกิจที่เบาบางในวันศุกร์ ((19/4) เนื่องจากเป็นวันหยุดยาวอีสเตอร์ตั้งแต่วันศุกร์ (19/4) ถึงวันจันทร์ (22/4) ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1224-1.1324 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (12/4) ที่ระดับ 1.1242/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันพุธ (17/4) ที่ระดับ 112.11/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/4) ที่ระดับ 111.90/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้รับแรงกดดันหลังจากการเปิดเผยตัวเลขยอดส่งออกเดือนมีนาคมที่ปรับตัวลดลง 2.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่ยอดนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% ทั้งนี้แนวโน้มที่เศรษฐกิจจะหดตัวลงในไตรมาสแรก ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ต้องเลื่อนแผนการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนตุลาคมอีกครั้งเพื่อจัดการกับภาระหนี้สาธารณะที่สูง นอกจากนี้ตลาดยังคงจับตามองเรื่องการทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐ และญี่ปุ่น หลังจากที่ยอดขาดดุลการค้าที่สูงมากของสหรัฐต่อญี่ปุ่น โดยนายโทชิมิตสึ โมเตกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่นกล่าวว่า ยังไม่มีการทำข้อตกลงในประเด็นใด ๆ หลังจากมีการหารือกันนานสองวัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในประเด็นการค้าสินค้า ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตร ส่วนประเด็นการค้าดิจิทัล ผู้แทนการค้าสหรัฐได้กล่าวเพียงว่า จะหารือในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.75-112.16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.92/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ