ธุรกิจแฟรนไชส์ ตอบโจทย์การลงทุนปี’62

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ต้องการจะเป็นเจ้าของกิจการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลทั้งด้านการลงทุนและรายได้จากการสำรวจครั้งล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 2.5 แสนล้านบาท และยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากคนไทยมีความตื่นตัวในการเป็นเจ้าของธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ผมจึงขอนำเสนอข้อมูลสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มธุรกิจของตนเองด้วยการซื้อแฟรนไชส์มาดำเนินการ และสำหรับผู้เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ที่ต้องการขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“แฟรนไชส์” ถือเป็นธุรกิจที่สร้างฝันให้เป็นจริงได้ โดยธุรกิจแฟรนไชส์ 7 ประเภทแรกที่ได้รับความนิยมและมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่มและไอศกรีม การศึกษา เบเกอรี่ ค้าปลีก บริการ ความงามและสปา ตามลำดับ

ข้อดีของธุรกิจแฟรนไชส์ คือ สามารถเริ่มต้นได้ด้วยเงินลงทุนไม่สูงมาก โดยมีอัตราค่าแฟรนไชส์ตั้งแต่ระดับพันบาทไปจนถึงระดับหลายล้านบาท ขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด และความนิยมของตลาด รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ไม่ยุ่งยาก ทำให้ง่ายต่อการเริ่มต้นสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ และมีความเสี่ยงน้อย โดยมีเจ้าของแฟรนไชส์ทำหน้าที่เสมือนเป็นพี่เลี้ยงที่คอยช่วยให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารงานให้กับผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ตลอดระยะเวลาที่ประกอบธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การจะทำธุรกิจแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จต้องประกอบด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง

สำหรับมือใหม่ควรเริ่มจากการเลือกธุรกิจที่เรามีความถนัด หรือเป็นงานที่เรารัก แบรนด์มีความน่าเชื่อถือ ก่อนตัดสินใจซื้อก็ควรพิจารณาสัญญาและค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ศึกษากลุ่มลูกค้าและวางแผนธุรกิจให้สอดคล้อง ศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และมีแผนรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และควรเตรียมเงินทุนสำรองเพื่อเสริมสภาพคล่อง นอกจากนี้ ควรหาทำเลที่อยู่ในย่านซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ในขณะเดียวกัน ราคาก็ต้องไม่สูงมาก ซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่บริเวณหมู่บ้าน อพาร์ตเมนต์ อาคารสำนักงาน ตลาด ศูนย์การค้า ไปจนถึงหน้าร้านแบบใหม่อย่างรถตู้ขายอาหาร หรือที่เรียกว่า ฟู้ดทรัก ซึ่งเป็นแฟรนไชส์อีกประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยม เพราะสามารถเคลื่อนย้ายไปตามสถานที่ต่าง ๆ และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น

การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์แม้ว่าจะง่ายกว่าการสร้างธุรกิจจากศูนย์ แต่การทำงานหนักด้วยความอดทนในช่วงเริ่มต้นยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากล้มก็ต้องพร้อมลุกโดยไม่ท้อถอย และต้องหมั่นปรับปรุงกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้ มีกำไร และเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในระยะยาว

ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ก็ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจด้วยเช่นกัน เพราะการแข่งขันในธุรกิจนี้ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ บางรายเป็นแฟรนไชส์ขนาดเล็กและขนาดกลาง กว่าจะก้าวขึ้นเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ได้เป็นเรื่องยากพอควร ดังนั้น จึงต้องพัฒนาธุรกิจและสินค้าให้ตอบรับพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งยังต้องนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยบริหารจัดการเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ยังสามารถขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐได้ด้วย ปัจจุบัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสากล (Franchise Standard) เพื่อการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโตอย่างมั่นคง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับระดับสากล

ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะทำการคัดเลือกธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพการตลาด โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยประเมินและวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง ของแต่ละธุรกิจ ที่สำคัญ ยังให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก พร้อมนำผู้ประกอบการไปศึกษาดูงานธุรกิจที่เป็นต้นแบบที่ดีในต่างประเทศ และนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนากลยุทธ์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการขยายตลาดออกต่างประเทศ เจ้าของแฟรนไชส์ที่สนใจสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ครับ