ธปท.ชี้เศรษฐกิจ ก.ค.โตต่อเนื่อง ขณะที่รายได้เกษตรหดตัวครั้งแรก จากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย อำนวยการ สำนักวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือน ก.ค.ปี 2560 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวดีสอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐปรับดีขึ้น

ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวดีทั้งการผลิตเพื่อส่งออกและเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศ สำหรับการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวแม้ชะลอลงบ้างตามการใช้จ่ายในหมวดบริการเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ อัตราการว่างงาน
ที่ปรับฤดูกาลทรงตัวเท่าเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค.มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 8.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ ขยายตัวร้อยละ12.2 ตามการขยายตัวในหลายหมวดสินค้าจาก 1) อุปสงค์ต่างประเทศที่ยังดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทัศนูปกรณ์โดยเฉพาะหมวดแผงวงจรรวมเพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนในการผลิตอุปกรณ์ที่รองรับ Internet of Things (IoT)ชิ้นส่วนในรถยนต์และหมวดโทรคมนาคมตามการส่งออกเครื่องรับส่งสัญญาณภาพและเสียง

2) การย้ายฐานการผลิตมายังไทยของผู้ผลิตรถจักรยานยนต์และโทรศัพท์มือถือ 3) ฐานมูลค่าการส่งออกที่ต่ำในปีก่อนหน้า ในหมวดสินค้าเกษตรและรถยนต์ และ 4) ปัจจัยบวกชั่วคราวของการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการส่งออกแท่นขุดเจาะน้ำมัน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน

นอกจากนี้ การผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศขยายตัว อาทิ การผลิตในหมวดอาหาร ตามปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และหมวดยานยนต์ตามยอดขายในประเทศที่ขยายตัวดีประกอบกับมีผลของฐานที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวในปีก่อนหน้าส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวร้อยละ 4.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของ
นักท่องเที่ยวในเกือบทุกกลุ่มสัญชาติ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและอาเซียนขยายตัวสูงต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV

อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศขยายตัวชะลอลงจากที่เร่งไปในเดือนก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 2.2 ตามจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ลดลง โดยเป็นผลจากการชะลอการท่องเที่ยวหลังสิ้นสุดเทศกาลฮารีรายอในเดือนก่อนหน้าเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งจากรายได้ภาคเกษตรกรรมที่หดตัวเป็นครั้งแรกในปีนี้จากด้านราคาเป็นสำคัญ

ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนขยายตัวดีโดยเฉพาะยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์จากผลของฐานต่ำในปีก่อน ส่วนปริมาณจ าหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ด้านการใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวแม้ชะลอลงบ้างตามจำนวนนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็งนัก โดยรายได้ในภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มลดลงจากผลของราคาสินค้าเกษตรที่โน้มต่ำลงแม้ผลผลิตขยายตัวสูง สำหรับรายได้นอกภาคเกษตรกรรมค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมที่ปรับลดลงจากความกังวลด้านกำลังซื้อและแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนยังระมัดระวังการใช้จ่าย

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น จากทั้งเครื่องชี้การลงทุนในภาคก่อสร้างตามยอดจำหน่ายวัสดุ
ก่อสร้าง และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างโดยเฉพาะธุรกิจพาณิชยกรรมในกรุงเทพฯ ที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยรวมขยายตัวตามการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า
มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวร้อยละ 18.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัวร้อยละ
10.9 ตามการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า ได้แก่ 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง จากการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับการส่งออกในหมวดดังกล่าวที่ขยายตัวดีและการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพื่อใช้ในประเทศ

2) หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและแท่นขุดเจาะ ตามการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม 3) หมวดเชื้อเพลิงที่ขยายตัวตามการนำเข้าน้ำมันดิบ และ 4) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ขยายตัวตามการนำเข้าสินค้าไม่คงทนประเภทอาหารและเครื่องดื่ม

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรโดยเฉพาะของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายงบพัฒนากลุ่มจังหวัดของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.17 ปรับเพิ่มขึ้นจากที่ติดลบร้อยละ 0.05
ในเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนราคาอาหารสดยังคงหดตัวแต่ในอัตราที่น้อยกว่าเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.48 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน

สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวเท่าเดือนก่อน ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้า ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจาก 1) การถอนเงินฝากจากต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ไทยเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ และการถอนเงินฝากของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ 2) การฝากเงินของนักลงทุนต่างชาติในธนาคารพาณิชย์ไทย และ 3) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในตราสารทุนของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง