ธปท.จ่อปรับลดจีดีพี โตไม่ถึง 3.8% หนุนรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธปท.เล็งปรับจีดีพีใหม่ หลังเห็นสัญญาณส่งออกทรุดต่อเนื่อง ปีนี้ส่อโตต่ำกว่า 3% หวั่นฉุดจีดีพีขยายตัวต่ำไม่ถึง 3.8% หนุนรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ปีนี้ มีความเสี่ยงที่จะเติบโตได้ต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8 % จากการส่งออกที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการค้าระหว่างประเทศชะลอลง และจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ว่าภาคการลงทุนและการบริโภคในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในไตรมาส 1/62 มองว่า จะติดลบกว่าที่ได้ประมาณการณ์ไว้ และติดลบต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 2/62 ทำให้การส่งออกของไทยปีนี้อาจจะเติบโตต่ำกว่า 3% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยจีดีพีไตรมาส 1/62คาดว่าจะเติบโตต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ที่ 3.4% และไตรมาส2/62 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้เกือบ 3% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3% และขยายตัวต่ำสุด ทำให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3.2%

“ครึ่งปีแรก เราคาดว่าจีดีพีจะโตอยู่ที่ประมาณ 3% ต้นๆ เนื่องการส่งออกที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จากการค้าระหว่างประเทศที่ชะลอลง โดยเฉพาะไตรมาส1 แม้แบงก์ชาติจะคาดการณ์ว่าตัวเลขส่งออกจะติดลบ แต่จากตัวเลขรายงานที่ได้รับเพื่อเตรียมแถลงข่าวนั้นดูไม่ดีมากนัก และต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และติดลบต่อเนื่องในไตรมาส2 โดยขนาดของการติดลบที่เกิดขึ้น อาจทำให้การส่งออกทั้งปีโตต่ำกว่า 3% ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจด้วย แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจโลกประกอบด้วย และต้องติดตามการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จะประกาศตัวเลขไตรมาส1 ในช่วงเดือนพ.ค นี้ ขณะที่แบงก์ชาติได้มีการทำประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่ทุก 3 เดือน” ดอนกล่าว

ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ เป็นความเสี่ยงที่จะต้องติดตาม หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในช่วงเดือนมิ.ย. เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อไปจนถึงช่วงเดือนก.ย.ก็อาจจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุน การบริโภค ของประเทศ รวมถึงการลงทุนของภาครัฐได้ ดังนั้นความท้าทายของรัฐบาลขณะนี้คือการทำให้การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนเติบโตได้ต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันในส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มองว่า หากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส2/2562 เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนความจำเป็นของมาตรการขึ้นอยู่กับการประเมินของรัฐบาล แต่ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการธนาคารโลกได้มีการปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ว่าจะขยายตัวได้3.8% และปี 2563 จะขยายตัวได้ 3.9% ซึ่งเป็นการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก และเป็นไปในทิศทางเดียวกับ แบงก์ชาติที่คาดกว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ 3.8% ซึ่งการประมาณของธนาคารโลกนั้น มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยค่อนข้างอยู่ในระดับที่ดี