ตลาดปรับขึ้นท่ามกลาง พื้นฐานเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอลง

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก

โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

คำถามหนึ่งของนักลงทุน คือ ท่ามกลางแนวโน้มพื้นฐานเศรษฐกิจที่ไม่สดใส ดังจะเห็นจากการปรับลดการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุดในต้น เม.ย. ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกในปีนี้กลับปรับตัวดีขึ้นมาก ประมาณ 15% นับจากต้นปี คำถามคือเรายังควรกังวลหรือไม่ และคนที่มีกำไรจากการลงทุนอยู่ควรขายหรือไม่ ? นี่เป็นคำถามที่ผมได้รับจากลูกค้า wealth management หลายแห่ง ซึ่งคำตอบผมเป็นดังนี้

1) ในภาพใหญ่ระยะยาว เราอยู่ในปลายวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งความผันผวนตลาดค่อนข้างสูง ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้ชัดเจน 100% ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ วันไหน เวลาไหน แต่ในภาพใหญ่ระยะสั้นถึงสิ้นปี 2562 พบว่าสัญญาณบวกจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย การคลี่คลายข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ในตลาดหุ้นสหรัฐที่กำลังทยอยประกาศ โดยเฉพาะกลุ่มที่กำไรไปในทิศทางเดียวกันกับภาวะเศรษฐกิจ (cyclical) เช่น กลุ่มธนาคาร พบว่าดีกว่าที่คาด ซึ่งส่วนนี้ผมจะขยายความให้ชัดเจนในส่วนความเห็นต่อการลงทุน

2) ในภาพหุ้นทั้งโลกที่ปรับขึ้น ตลาดที่ปรับขึ้นมากที่สุดในปีนี้จนถึงขณะนี้ จะเป็นดัชนีหุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีน ซึ่งในปีที่แล้วปรับลงมามาก และยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นต่อไปจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่เริ่มฟื้นตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทยอยออกเป็นชุด ๆ และการนำดัชนีหุ้นจีนมาเป็นดัชนีเกณฑ์มาตรฐานอ้างอิงสำหรับการลงทุนของนักลงทุนสถาบันทั่วโลก ทั้งดัชนี MSCI และดัชนี FTSE

3) สัญญาณจากนโยบายการเงินของ Fed และหลายธนาคารกลางทั่วโลกที่จะเปลี่ยนจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เป็นหยุดการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ผลตอบแทนของหุ้นดูน่าสนใจเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ และเชิงของการประเมินมูลค่า (valua-tion) พบว่าหุ้นมีมูลค่าที่น่าสนใจมากกว่าปีก่อนมาก

แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นในการลงทุนของผม คือ ในภาพระยะสั้น ภายใต้ภาพใหญ่ของการที่เราอยู่ในปลายวัฏจักรเศรษฐกิจนั้น การจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการลงทุนยังคงมีความเหมาะสม โดยนักลงทุนที่รับความเสี่ยงปานกลางและมีคุณสมบัติในการลงทุนตราสารซับซ้อน (อาทิ ซื้อหน่วยลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนบาท) ควรเลือกลงทุนในกองทุนที่มีการลงทุนที่มีการชำระคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุโครงการ ซึ่งกองประเภทนี้จะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำในการสูญเสียเงินต้น แต่เปิดรับผลตอบแทนได้สูงจากสินทรัพย์ที่ใช้อ้างอิงในการลงทุน (underlying asset) ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นที่น่าสนใจสำหรับผู้รับความเสี่ยงได้สูง คือ สินทรัพย์ที่ราคาปรับลดลงมาก แต่พื้นฐานดี ซึ่ง ณ ขณะนี้เป็นดัชนีตลาดหุ้นจีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะปลายวัฏจักรเศรษฐกิจ การยึดมั่นในการจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการลงทุนไม่เพียงแต่ลดความเสี่ยง แต่ยังเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนได้สูงมาก กล่าวคือในช่วงที่ตลาดปรับลงมาก การกระจายเงินจากสินทรัพย์เสี่ยงต่ำไปยังสินทรัพย์เสี่ยงสูง และถือลงทุนระยะกลาง-ยาว จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนในภาพรวมของพอร์ตการลงทุนได้อย่างมาก

แต่กลยุทธ์นี้ “ยาก” ในเชิงปฏิบัติ เพราะขัดกับหลักจิตวิทยาการลงทุน ที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่กล้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในตอนที่ตลาดลงมาก และนี่เป็นเหตุผลสำคัญหนึ่งที่นักลงทุนไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเรื่องการลงทุน