สรรพากรถกสมาคมแบงก์ลงตัว เคลียร์แนวปฏิบัติชัด ใครจะใช้สิทธิยกเว้นภาษีดอกเบี้ยให้อยู่ “เฉย ๆ”

สรรพากรถกสมาคมแบงก์ลงตัว เตรียมออกประกาศฉบับใหม่ ใครประสงค์ใช้สิทธิยกเว้นภาษีดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาท ให้อยู่ “เฉย ๆ” แบงก์จะส่งข้อมูลสรรพากรเอง ส่วนใครไม่อยากให้ข้อมูล ต้องแจ้งแบงก์ คาดไม่เกินต้นสัปดาห์หน้าออกประกาศได้ เผยแบงก์ชาติไม่ขัดหากสรรพากรมี “ฐานอำนาจ” เรียกข้อมูลแบงก์ได้

 

นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ตามที่มีกระแสเรื่องการยกเลิกการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาท/ปี รวมถึงการส่งข้อมูลดังกล่าวให้กรมสรรพากร จึงได้เชิญสมาคมธนาคารไทย และผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาหารือร่วมกันอีกครั้ง ช่วงเช้าวันนี้ (25 เม.ย.) โดยที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นที่ประชาชนยังสงสัย หรือเข้าใจผิดมาหารือกัน ว่ามีตรงไหนก่อความวุ่นวายหรือสร้างปัญหาให้ประชาชน รวมทั้งเจตนารมย์ของกรมสรรพากรในการออกประกาศ

“กรมได้สรุปว่า หลักของประกาศฉบับแก้ไขปรับปรุงที่เราจะออกมาอีก 1 ฉบับ มีสาระสำคัญ คือ ใครก็ตามที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท มีเงื่อนไข ดังนี้ 1.กรมสรรพากรต้องได้ข้อมูลของผู้ฝากเงิน หมายถึงว่าแบงก์จะต้องส่งข้อมูลให้กรม กรมก็นำข้อมูลไปดูให้ครบทุกแบงก์ แล้วจะส่งกลับไปว่ากรณีใดบ้างที่ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%” นายปิ่นสายกล่าว

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว ออกภายใต้ประมวลรัษฎากร ที่มีมาตราหนึ่ง ระบุถึงหลักของการยกเว้นภาษีดอกเบี้ย ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร ซึ่งกรมก็มากำหนดวิธีการเงื่อนไข โดยแนวทางคือ กรมต้องขอข้อมูลจากแบงก์ โดยแบงก์มีหน้าที่ต้องส่งข้อมูล 4 ครั้งใน 1 ปี ประกอบด้วย ช่วงกลางปี 2 ครั้ง และ ปลายปีอีก 2 ครั้ง

“ทางแบงก์ชาติ ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ ก็บอกว่า ถ้าสรรพากรมีฐานอำนาจ ก็สามารถที่จะส่งข้อมูลได้” นายปิ่นสายกล่าว

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า แนวปฏิบัติที่เข้าใจง่าย ๆก็คือ ประชาชนที่อยากได้สิทธิยกเว้นภาษี ไม่ต้องดำเนินการอะไรทั้งสิ้น เพราะแบงก์จะส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรเอง ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการใช้สิทธิจึงจะต้องแจ้งแบงก์ว่าไม่ให้ส่งข้อมูล ซึ่งเมื่อถูกหักภาษี แต่หากดูแล้วทั้งปีมีดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท ก็สามารถไปขอคืนภาษีได้ โดยประกาศฉบับใหม่ กรมสรรพากรจะออกได้ไม่เกินต้นสัปดาห์หน้า

ทางด้านนางสาวชุลีพร น่วมทนง รองเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า หลักของกรมสรรพากร คือ ทุกคนที่มีรายได้ ไม่ว่าจะดอกเบี้ยหรืออื่น ๆก็ตาม มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว แต่กรณีนี้เป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ฝากเงินที่มีรายได้ดอกเบี้ยรวมกันไม่ถึง 20,000 บาท/ปี ได้รับการยกเว้นภาษี โดยผู้ฝากอาจจะมีบัญชีกับหลายธนาคาร ซึ่งหากรวมกันทั้งหมดแล้วดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท ก็จะต้องเสียภาษี

“แต่ละแบงก์จะไม่ทราบว่า ลูกค้าได้รับสิทธิยกเว้นภาษีหรือเปล่า แต่ข้อมูลจะส่งไปที่กรมสรรพากร กรมจะรวมข้อมูล แล้วจะบอกว่าลูกค้าได้รับสิทธิหรือไม่ ถ้าได้รับสิทธิก็ยกเว้นภาษีไป แต่ถ้าไม่ได้รับสิทธิ หากแบงก์ไม่ได้หักไว้ ลูกค้าก็จะเสียสิทธิถูกเก็บภาษี 15% ตั้งแต่แรก ก็ต้องนำรายได้ดอกเบี้ยนั้นไปรวมคำนวณภาษี กล่าวคือ กรมจะรวมให้แล้วส่งให้แบงก์หักภาษี ส่วนกลุ่มที่รวมแล้วไม่เกิน 20,000 บาท ก็ไม่เสียภาษี” นางสาวชุลีพรกล่าว

ทั้งนี้ แบงก์จะต้องปรับระบบงาน เพื่อส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร โดยส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งฝ่ายไอทีทุกแบงก์ต้องดำเนินการปรับปรุงระบบเพื่อให้ส่งข้อมูลได้ทัน