ไตรมาส 2 บาทอ่อนหลุด 32 บาท สัญญาณฟันด์โฟลว์ออกไทย

แบงก์ชี้แนวโน้มค่าเงินบาท Q2 อ่อนค่า หลุด 32 บาท/ดอลลาร์ “ซีไอเอ็มบี ไทย” แจงปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกกดดันเงินไหลออก ฟาก “กรุงไทย” ระบุบริษัทไทยไปลงทุนต่างประเทศทำบาทอ่อน เห็นพ้องปลายปีเงินไหลกลับกดดันบาทพลิกแข็งค่า หวั่นครึ่งปีหลัง ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยสวนกระแสโลก

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค่าเงินบาทในไตรมาส 2/2562 มีทิศทางอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยความไม่แน่นอนของตลาดโลกที่มีสูง ทำให้คาดว่าเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์)จะไหลออกจากตลาดเกิดใหม่กลับไปยังสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกโตช้า ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว รวมถึงปัญหาภายในของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว

“ปัจจัยเหล่านี้กดดันให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทย ขณะเดียวกัน ไทยมีปัจจัยในประเทศในเรื่องความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล จึงมีความเป็นไปได้ที่ในไตรมาส 2 ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และจะกลับมาแข็งค่าอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น” นายอมรเทพกล่าว

ทั้งนี้ นายอมรเทพกล่าวว่า สำหรับปีนี้แนวโน้มค่าเงินบาท คาดว่าจะปรับตัวอยู่ในกรอบ 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยปลายปีค่าเงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 32.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ช่วงไตรมาส 2 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากสถานการณ์เงินทุนไหลออก เนื่องจากมีบริษัทในประเทศออกไปลงทุนต่างประเทศกันพอสมควร อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปีมีโอกาสที่ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง โดยกลับมาอยู่ที่ราว 30.70-31.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสิ้นปีคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

“ในระยะสั้น ๆ หากตลาดการเงินมีการปิดรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หลังจากที่ปัจจุบันตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างสูง ดังนั้น หากตลาดหุ้นมีการปรับฐานก็จะมีโอกาสเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ โดยไตรมาส 2 นี้ คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 31.5-32.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ” นายจิติพลกล่าว

นายจิติพลกล่าวด้วยว่า สำหรับปัจจัยที่จะต้องจับตาซึ่งส่งผลต่อค่าเงินบาท คือ สงครามการค้า นโยบายการเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั้งสหภาพยุโรป ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการใช้นโยบายการเงินสวนทางกับประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

“ธปท.ให้ความสำคัญกับพื้นฐานของเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งเสถียรภาพของตลาดเงิน และสถาบันการเงินที่เริ่มมีความวิตกกังวลเรื่องตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น จากการกู้เงินเกินตัว รวมถึงหนี้เสีย ที่เพิ่มขึ้นในส่วนของสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถ โดยขณะนี้ ธปท.กำลังส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง” นายจิติพลกล่าว

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มสูงขึ้น จากความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถเข้าร่วมโครงการบริหารความเสี่ยง FX Options ที่ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมแล้ว 3,942 ราย มูลค่า FX Options อยู่ที่ 79 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่ายังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5,000 ราย โดยล่าสุดได้เพิ่มช่องทางการอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) ที่มีความสะดวกมากขึ้น