ปัดฝุ่นตั้งกองทุนภัยพิบัติใหม่ เอกชนวอนรัฐรับประกันภัยต่อในประเทศ

คปภ.ปัดฝุ่นตั้ง “กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” ใหม่ สั่งศึกษาความเสี่ยงมหันตภัยต่าง ๆ ปักธงได้ข้อสรุปปีนี้ชงรัฐบาลปีหน้า ฟากประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย แนะรัฐรับ “ประกันภัยต่อ” บางส่วน สอดรับนโยบายตุนเบี้ยในประเทศ ชี้ควรตั้งอัตราเบี้ยไม่แพง หลังไทยถูกต่างชาติโขกค่ารีตั้งแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี’54

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทีมศึกษาแผนการจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” ขึ้นมาใหม่ โดย คปภ.จะว่าจ้างทีมวิจัยจัดทำรายงานแนวโน้มมหันตภัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศไทยขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นจะนำไปหารือกับภาคธุรกิจและกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ดี คาดว่าปีนี้อาจจะเริ่มต้นศึกษาก่อน เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง หรือนโยบายรัฐบาลใหม่ แต่มองว่าปีหน้ามีแนวโน้มเป็นไปได้

“ปัจจุบันหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ส่วนใหญ่มีกองทุนดังกล่าวไว้กรณีที่มีปัญหาฉุกเฉินสามารถนำเงินไปช่วยเหลือในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น การช่วยเหลือการประกันภัยนาข้าว หรือการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประกันภัยไทย และประเทศ” นายสุทธิพลกล่าว

ที่ผ่านมา คปภ.ได้ศึกษาว่ากองทุนนี้มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ควรจัดตั้งขึ้นใหม่ หลังเคยมีและยุบเลิกไปแล้ว โดยพิจารณาว่ารูปแบบกองทุนหรือเม็ดเงินสนับสนุนจะเป็นอย่างไร รวมทั้งกรอบอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่จะมารองรับ

นายอานนท์ วังวสุ ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย และในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้เคยเสนอนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณาให้รัฐเป็นผู้รับประกันภัยต่อสำหรับความคุ้มครองภัยธรรมชาติ ซึ่งสอดรับนโยบายรัฐที่ต้องการให้เก็บเบี้ยประกันภัยไว้ในประเทศมากขึ้น โดยการลดอัตราการประกันภัยต่อลง ซึ่งทางเดียวคือจะต้องมีผู้รับประกันภัยต่อในประเทศ ซึ่งไม่มีใครใหญ่เท่ากับรัฐบาลที่จะมีวงเงินมารับความเสี่ยงได้

ทั้งนี้ เม็ดเงินสนับสนุนจากรัฐที่ได้เคยเสนอไว้อยู่ในวงเงิน 1 แสนล้านบาทนั้น ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเห็นเหมาะสม หรือจะสนับสนุนในวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เท่าเดิมกับครั้งที่แล้วก็ได้ เนื่องจากไม่ได้ใช้เงินสด แต่ใช้เป็นเครดิตรัฐ หากเกิดความเสียหายใหญ่ ๆ รัฐบาลก็อาจจะต้องไปออกพันธบัตรขายเพื่อจ่ายเคลม ซึ่งมองว่าโอกาสเกิดภัยพิบัติใหญ่ ๆ อย่างปี 2554 ค่อนข้างยาก

“เนื่องจากต่างชาติฉวยโอกาสหลังปี”54 ประกาศให้ไทยอยู่ในโซนประเทศที่มีโอกาสเกิดภัยพิบัติสูง ส่งผลให้เบี้ยประกันคุ้มครองภัยธรรมชาติที่ถูกแยกออกมาจากการประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ค่อนข้างแพงมาก ทำให้คนซื้อความคุ้มครองแบบจำกัด ซึ่งหากเกิดภัยพิบัติใหญ่ ๆ ก็จะยุ่งเพราะความคุ้มครองมีไม่พอ ดังนั้น รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนนี้และเข้ามารับประกันภัยต่อบางส่วน โดยตั้งอัตราเบี้ยที่ไม่แพงจนเกินไป ซึ่งจะทำให้ต่างชาติรู้ว่า ไทยก็มีผู้รับประกันภัยต่อที่สามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่า” นายอานนท์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติที่เลิกไปก่อนหน้านี้ เพราะขณะนั้นจัดตั้งขึ้นแบบเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือหลังน้ำท่วมใหญ่ปี”54 เนื่องจากไม่มีใครกล้ารับประกันภัย ซึ่งปัจจุบันมองว่ารัฐบาลควรจะมีการจัดตั้งกองทุนนี้เป็นแบบระยะยาว อย่างไรก็ดี หากมีการเปลี่ยนแปลง รมว.คลังคนใหม่ ก็อาจจะต้องเข้าไปหารือกันอีกครั้งหนึ่ง

“เราประเมินแล้วว่าหลังปี”54 ไม่ค่อยมีเคลมใหญ่ ๆ มีบางปีเท่านั้น ซึ่งถ้าทำตั้งแต่ตอนนั้นปัจจุบันนี้พอจะมีกำไรเข้ารัฐ” นายอานนท์กล่าว