อารยสถาปัตย์กับธุรกิจ

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรโลกอันเนื่องมาจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก ทำให้มีการนำแนวคิดที่เรียกว่า “อารยสถาปัตย์” หรือ universal design ซึ่งหมายถึงการออกแบบที่เป็นสากลและรองรับคนทุกกลุ่มในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน มาใช้ในการออกแบบอาคารสถานที่ทั้งที่สาธารณะและส่วนบุคคล เพื่อมอบความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วย หรือ

ผู้ที่มีข้อจํากัดทางร่างกาย หลายประเทศที่นำแนวคิดอารยสถาปัตย์มาใช้ ทำให้อาคารสถานที่มีความสะดวกมากขึ้นสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เช่น ประตูที่กว้างขวางขึ้น

พื้นทางเดินเป็นผิวเรียบไม่มีขั้นให้สะดุด ทางเข้า-ออกอาคารมีทางลาด เพื่อผู้ใช้รถเข็นหรือรถเข็นเด็ก พื้นใช้บล็อกนําทาง (braille block) สำหรับผู้พิการ ที่จอดรถสำหรับสุภาพสตรี รถเข็นผ่อนแรงสำหรับผู้สูงอายุใช้ใส่ของ การวางแผนพื้นที่สาธารณะและสภาพแวดล้อมสําหรับเด็ก การใช้สื่อนําทางมัลติมีเดียเพื่อผู้พิการทางสายตา การออกแบบป้ายโดยใช้สัญลักษณ์เพื่อขจัดอุปสรรคด้านภาษา เป็นต้น

มาถึงตรงนี้ท่านอาจจะคิดว่า อารยสถาปัตย์ เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร หรือ corporate social responsibility (CSR) ผมขอเรียนว่า อารยสถาปัตย์มีประโยชน์ต่อธุรกิจหลายประการเลยทีเดียว การนำอารยสถาปัตย์มาใช้กับสถานประกอบการโดยเฉพาะในธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหารหรือโรงแรม ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงวัยและผู้พิการ จะทำให้ธุรกิจของท่านเปิดกว้างพร้อมให้ลูกค้าทุกกลุ่มเข้ามาใช้บริการได้อย่าง

เท่าเทียมกัน นอกจากจะเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ยังช่วยในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก อีกทั้งยังนำมาซึ่งลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ทางร้านอาจไม่เคยมองว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายมาก่อน อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า องค์กรนั้น ๆ ใส่ใจในคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงาน ทำให้พนักงานมีความรักในองค์กรและเสริมภาพลักษณ์ในฐานะของ caring organization ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจมองว่า การปรับปรุงห้างร้านตามแนวทางอารยสถาปัตย์เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินมาก และไม่สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุน ผมว่าเรามาพิจารณาตัวเลขนี้กันดีไหมครับ ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 และคาดว่าจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปราว 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ขณะเดียวกัน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า คนพิการในประเทศไทยมีจำนวนเกือบ 2 ล้านคน ในจำนวนนี้ 9.6 แสนคนเป็นผู้มีความพิการทางการเคลื่อนไหว หากธุรกิจของท่านไม่ได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้ก็หมายความว่า ท่านสูญเสียโอกาสจากกำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มใหญ่ไปอย่างน่าเสียดาย

สำหรับผลตอบแทนการลงทุน ผมมีตัวอย่างจากการปรับปรุงสถานออกกำลังกาย หรือฟิตเนสแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่นำเอาแนวคิดอารยสถาปัตย์มาใช้ ซึ่งประกอบด้วย การปรับทางเข้าให้เป็นพื้นลาดขนาดใหญ่ พื้นผิวภายในเป็นพื้นกันลื่นที่รถเข็นสามารถเคลื่อนไปได้ทุกที่ และยังเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงวัยและผู้พิการ หนึ่งปีหลังการปรับปรุง ฟิตเนสแห่งนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น 336 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสมาชิกผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น 200 เปอร์เซ็นต์

อารยสถาปัตย์ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการออกกฎหมายของหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งบังคับให้อาคารสถานที่สาธารณะต้องจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนทั้งมวล สำหรับประเทศไทย คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้จัดทำรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act) เพื่อเสนอต่อรัฐบาลในการผลักดันให้เป็นกฎหมาย โดยหนึ่งในหลักการพื้นฐานของการเข้าถึงได้คือ การออกแบบที่เป็นสากลหรืออารยสถาปัตย์ จะเห็นว่าอารยสถาปัตย์ได้กลายเป็นดัชนีชี้วัดความเจริญของประเทศ และเป็นกติกาของสังคมที่ผมอยากให้ผู้ประกอบการไทยหันมาใส่ใจและเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยครับ