เอสเอ็มอีแห่แจ้งเสียภาษีไม่ครบ 1 เดือนลงทะเบียน “ปรับงบฯ” แตะ2หมื่นราย

สรรพากรเผย 1 เดือน เอสเอ็มอีลงทะเบียน “บัญชีเดียว” แล้วเฉียด 2 หมื่นราย ชี้หลังสงกรานต์ยอดพุ่งเกือบ 2 พันรายต่อวัน เชื่อก่อนถึงสิ้น มิ.ย.ยอดลงทะเบียนเข้ามาอีกมาก ขณะที่ปมสั่งแบงก์รายงานดอกเบี้ยเงินฝากได้ข้อสรุปชัด-ธปท.ไม่ขัดข้อง

นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากกรมเปิดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ลงทะเบียนใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา พ.ศ. 2562 มาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ถึงขณะนี้ใกล้ 1 เดือน มีลงทะเบียนแล้วเกือบ 20,000 ราย เนื่องจากเดือนนี้มีช่วงเทศกาลสงกรานต์จึงทำให้ช่วงดังกล่าวมีลงทะเบียนเข้ามาน้อย แต่ล่าสุดใกล้สิ้นเดือนมีเข้ามาลงทะเบียนวันละเกือบ 2,000 ราย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้คงยังไม่สามารถประเมินมูลค่าภาษีที่จะชำระเพิ่มเติมเข้ามาได้ เนื่องจากผู้ประกอบการอยู่ระหว่างปรับปรุงงบการเงินของปี 2561 ที่จะต้องยื่นในเดือน พ.ค.นี้ และหลังจากนั้นในช่วง 1 เดือนที่เหลือก็จะเป็นช่วงที่นำแบบแสดงรายการภาษีของปี 2559 และปี 2560 ที่เคยยื่นไว้ยังไม่ถูกต้องมายื่นให้ถูกต้อง และคงจะดำเนินการชำระภาษีทั้งหมดกันในช่วงนั้น

“ตอนนี้เพิ่งผ่านมาเกือบ 1 เดือน ยังมีเวลาจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.ก็ต้องรอดู แต่น่าจะเพิ่มมากขึ้นหลังจากนี้ เพราะหลังสงกรานต์มาถึงตอนนี้ก็เพิ่มมาระดับ 1,800-2,000 รายต่อวันแล้ว ทั้งนี้ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการที่รู้ตัวว่ายังทำผิดอยู่ แล้วจะทำให้ถูกต้องก็จะมาลงทะเบียนไว้ก่อน ซึ่งยอดชำระภาษีคงจะเข้ามาในช่วงเดือน มิ.ย.เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้อธิบดีกรมสรรพากรไม่ได้มุ่งเน้นเม็ดเงินภาษี แต่จะให้ความสำคัญกับการสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนในอนาคต” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า จากที่จัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการในเรื่องนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ลงทะเบียนทำบัญชีชุดเดียว ยื่นขอกู้เงินจาก 5 ธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อชำระภาษีกันมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่คิดต่ำมากเฉลี่ยแค่ 5% ต่อปีเท่านั้น หากเทียบกับเงินเพิ่มที่ต้องจ่าย 1.5% ต่อเดือน หรือ 18% ต่อปี

“น่าจะมีคนไปขอใช้สิทธิกู้เงินกันเยอะ เพราะจากที่กรมจัดสัมมนามีคนสนใจกันมาก เนื่องจากดอกเบี้ยเฉลี่ยแค่ 5% เท่านั้นเอง ถูกกว่า O/D (สินเชื่อเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี) อีก แถมกู้ไปจ่ายภาษีแล้วยังมีเงินเหลือเป็น cash flow (กระแสเงินสด) อีก” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรระบุว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการนี้มีทั้งสิ้นราว 4.6 แสนราย

ขณะที่นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวถึงการออกประกาศฉบับแก้ไขปรับปรุงในเรื่องให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์แก่กรมสรรพากรว่า ได้หารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 เม.ย. คาดว่าประกาศฉบับใหม่จะออกได้ในสัปดาห์นี้ โดยยึดหลักตามประมวลรัษฎากรว่า การใช้สิทธิขอยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ในกรณีมีดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาท จะต้องมีข้อมูลส่งให้กรมสรรพากร แต่หากใครไม่ต้องการใช้สิทธิดังกล่าวก็ไปแจ้งแบงก์ว่า ไม่ให้ส่งข้อมูลกรมสรรพากร

“ถ้าไม่ประสงค์ใช้สิทธิยกเว้นภาษี ก็ต้องไปแจ้งแบงก์ จากนั้นแบงก์ก็ต้องดำเนินการหักภาษี 15% ไว้ทุกกรณี ไม่ว่าดอกเบี้ยจะถึง 20,000 บาท/ปีหรือไม่ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขว่าจะได้รับการยกเว้น โดยหลักการเรื่องนี้ คือ เป็นการยกเว้นภาษีให้โดยมีเงื่อนไขบังคับก่อน เงื่อนไขที่สำคัญอันแรกก็คือ สรรพากรต้องมีข้อมูล” นายปิ่นสายกล่าว

โฆษกกรมสรรพากรกล่าวด้วยว่า ทาง ธปท.ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมด้วย เห็นว่าหากทางกรมสรรพากรมีฐานอำนาจในการดำเนินการ แบงก์ต่าง ๆ ก็สามารถส่งข้อมูลได้