ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดรอดูการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/4) ที่ระดับ 31.88/89 บาท/ดอลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (26/4) ที่ระดับ 31.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐ ขยายตัวมากขึ้นในไตรมาสแรก เนื่องจากยอดขาดดุลการค้าลดลง และการเพิ่มขึ้นของสต๊อกสินค้าคงคลังนับตั้งแต่ปี 2015 โดยตัวเลขจีดีพีเพิ่มขึ้น 3.2% ในไตรมาสแรกจากการลงทุนด้านการก่อสร้างถนนที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลาง เทียบกับที่ขยายตัว 2.2 %ในไตรมาส 4 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ที่ 2.2% และยังคาดการณ์ว่าจีดีพีจะชะลอตัวในปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัว 2.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ที่ 3% หลังจากที่เศรษฐกิจขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้าในปีที่แล้ว

นอกจากนี้นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 30 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) จะคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมครั้งนี้ สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงการคลังแถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน 2562 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3-4.3) ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าจากปัจจัยอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัวลง รวมถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.88-31.93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.92/31.93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้  (29/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ  1.1149/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/4) ที่ระดับ 1.1136/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1142-1.1166 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1158/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (29/4) เปิดตลาดที่ระดับ 111.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/4) ที่ระดับ 111.72/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ การซื้อขายสกุลเงินเยนมีปริมาณเบาบางในช่วงนี้ เพราะญี่ปุ่นเริ่มเข้าวันหยุดยาวระหว่างวันที่ 27 เม.ย.-6 พ.ค. เป็นเวลา 10 วันเพื่อเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.54-111.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.75/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ก.พ. (29/4) การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือน ก.พ. (29/4) ดัชนีการผลิตเดือน เม.ย. จากเฟดสาขาดัลลัส (29/4) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. จาก Conference Board (30/4) ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน เม.ย.จาก ADP (1/5) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการคผลิตเดือน เม.ย. จากมาร์กิต (1/5) ดัชนีภาคการผลิตเดือน เม.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (1/5) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (2/5) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (2/5) ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน มี.ค. (2/5) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย. (3/5) อัตราการว่างงานประจำเดือนเมษายน (3/5) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน เม.ย.จากมาร์กิต (3/5) ดัชนีบริการเดือน เม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (3/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.40/-2.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.60/4.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ