
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมส่งทุนประเดิมกว่า 5.7 พันล้านบาท เข้ากองทุน CMDF ภายใน 15 ก.ค.62 นี้ พร้อมเผยความคืบหน้าซุ่มพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลร่วมกับพันธมิตร
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยใน กิจกรรม “SET Talk Special: SET หลัง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ใหม่” ซึ่งจัดขึ้นในวันอังคารที่ 30 เม.ย.62 ว่า หลัง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 6 หรือ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 เม.ย.62 ที่ผ่านมา มีผลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนี้
1.โครงสร้างคณะกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ: ที่จากเดิมมาจากการแต่งตั้งของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เกิน 5 คน และบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งจากบริษัทสมาชิกอีกไม่เกิน 5 คน โดย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่ มีการปรับให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้แต่งตั้งกรรมการ 6 คน และกรรมการอีก 4 คน มาจากการบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกเลือก ขณะที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามานั่งเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ไม่เกิน 2 คน ในกรณีที่จำเป็น ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่ภายใน 120 วัน นับจากวันที่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ หรือภายในวันที่ 14 ส.ค.62
2.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF): ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องนำส่งทุนประเดิม 5,700 ล้านบาท ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ หรือภายในวันที่ 15 ก.ค.62 และจะต้องนำส่งเงินรายปีจาก 90% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ภาษี และเงินสำรอง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเหตุจำเป็น กองทุน CMDF สามารถใหเงินสนับสนุนแก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทั้งนี้ คณะกรรมการกองทุน CMDF ประกอบด้วย ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นประธาน รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นรองประธาน ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน เป็นกรรมการ ซึ่งจะต้องดำเนินการสรรหาภายใน 60 วัน นับจากวันที่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ หรือภายในวันที่ 17 มิ.ย.62
3.การทำธุรกิจและผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจหลักทรัพย์: ได้แก่ 1) เปิดให้บุคคลที่มิใช่บริษัทสมาชิกซื้อขายในตลาดได้โดยตรง (Direct Access) จากเดิมนักลงทุนจะต้องส่งคำสั่งซื้อผ่านบริษัทหลักทรัพย์ หลังจากนั้นบริษัทหลักทรัพย์จึงนำคำสั่งซื้อของนักลงทุนส่งตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จาก พ.ร.บหลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่ นักลงทุนสามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้โดยตรง ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง เพื่อรองรับการซื้อขายโดยตรงจากนักลงทุน 2) อนุญาตให้สมาชิกซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาด (Electronic Trading Platform: ETP) ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และ 3) ให้ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์อื่นที่มิใช่ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) สามารถใช้ scripless ได้
“เราคาดว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่ที่ออกมาจะไม่มีผลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับส่งเสริมให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องแข่งขันให้มากขึ้น เข้มแข็งให้มากขึ้น และจะต้องมีประสิทธิภาพให้มากขึ้น” นายภากร กล่าว
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการปรับตัวและประเมินผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาแข่งขันกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อจากนี้ รวมถึงมีการพัฒนาทั้งตลาดสินทรัพย์ทั้งตลาดสินทรัพย์แบบดั้งเดิม (Traditional Asset Market) และการซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Market) นอกจากนี้ ยังเปิดเผยความคืบหน้าในการหาพันธมิตรในการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Partnership) ว่ามีการลงนามความร่วมมือทางธุรกิจ (MOU) กับพันธมิตรหลายราย และอยู่ระหว่างการเวิร์คช็อป (Workshop) ร่วมกัน โดยคาดว่าจะได้เห็นตัวอย่างผลิตภัณฑ์ (Prototype) ที่พัฒนาร่วมกับพันธมิตรในช่วงไตรมาส 4/62 และคาดว่าจะสามารถเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ในไตรมาส 1/63