ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม จากการหยุดดำเนินการของแหล่งผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังความรุนแรงของพายุ Harvey ส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว โดยล่าสุดมีรายงานว่าการผลิตน้ำมันดิบในส่วนของอ่าวเม็กซิโกต้องหยุดดำเนินการราวร้อยละ 13.5

+ รัฐบาลสหรัฐฯ นำน้ำมันดิบในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves หรือ SPR) ออกมาใช้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยมีการดึงน้ำมันดิบออกมาราว 1 ล้านบาร์เรล เพื่อส่งไปยังโรงกลั่นในรัฐ Louisiana ที่ยังสามารถเปิดดำเนินการ

+ รอยเตอร์ รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกในเดือนส.ค. ปรับลดลงราว 170,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณการผลิตสูงที่สุดในปี 2560 มาอยู่ที่ระดับ 32.83 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการปรับลดลงของปริมาณการผลิตในลิเบียที่สถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอีกครั้ง รวมถึงการที่ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกสามารถปรับลดกำลังการผลิตได้ตามข้อตกลงมากขึ้น

+ นักวิเคราะห์จากสำนักข่าวรอยเตอร์ปรับเพิ่มการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยในปี 2560 และ 2561 อยู่ที่ 52.53 และ 54.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ในขณะที่ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเฉลี่ยในปี 2560 และ 2561 อยู่ที่ 50.01 และ 51.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ การปรับครั้งนี้เนื่องมาจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกที่ปรับลดลง และความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากราคาเบนซินในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ หยุดดำเนินการผลิตจากพายุ Harvey

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากพายุ Harvey ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันดีเซลของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลของอินเดียที่ปรับตัวสูงขึ้น

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

การปรับลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอตัว เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวลดลง หลังพายุ Harvey ทำให้โรงกลั่นน้ำมันดิบ ท่าขนส่งน้ำมันดิบ แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ และท่อขนส่งน้ำมันหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว นอกจากนี้ ยังมีโรงกลั่นบางโรงที่ไม่ได้ปิดชั่วคราวจำเป็นต้องลดอัตราการกลั่นลง

ติดตามพายุ Harvey ในอ่าวเม็กซิโกที่เคลื่อนตัวเข้าชายฝั่งทางทะเลทิศใต้ของรัฐเท็กซัส ซึ่งล่าสุดได้มีการปรับลดระดับจากพายุโซนร้อนเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว ว่าจะส่งผลกระทบกระทบต่อตลาดน้ำมันเป็นระยะเวลานานหรือไม่ หลังพายุดังกล่าวส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมัน และแหล่งผลิตน้ำมันดิบบางแห่งในสหรัฐฯ หยุดดำเนินการ และความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูป โดยเฉพาะ น้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง โดยล่าสุดมีรายงานว่าโรงกลั่นที่ต้องหยุดดำเนินการมีกำลังการผลิตรวมกันมากกว่า 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 24 ของกำลังการผลิตของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ทั้งหมด

จับตาสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศลิเบีย ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับตัวลดลงราว 360,000 บาร์เรลต่อวัน หลังล่าสุดผู้ก่อความไม่สงบปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ ส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบทั้งหมด 3 แหล่งได้แก่ El Sharara, El Feel และ Hamada ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว