ค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันหลังมีมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนจาก 10% เป็น 25%

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/5) ที่ระดับ 31.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/5) ที่ระดับ 31.58/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายแลร์รี่ คุดโลว์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว เปิดเผยว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนอาจพบปะกันในการประชุม G20 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28-29 มิ.ย.นี้ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่สหรัฐและจีนเผชิญกับทางตันในการเจรจาการค้า เนื่องจากสหรัฐได้เรียกร้องให้จีนให้คำมั่นสัญญาในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอย่างจริงจัง ขณะที่จีนยืนกรานว่าจะไม่ยอมให้ปัจจัยใดเข้ามาทำลายผลประโยชน์ของจีน

โดยเมื่อวันศุกร์ (10/5) ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ได้สั่งการให้นายไลท์ไฮเซอร์เริ่มกระบวนการเก็บภาษีนำเข้าครั้งใหม่ต่อสินค้านำเข้าที่เหลือทั้งหมดจากจีน ซึ่งมีมูลค่าราว 2 แสนล้านดอลลาร์ จาก 10% สู่ระดับ 25% ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันครั้งใหญ่ที่สุดในการทำสงครามการค้าของสหรัฐกับจีน ส่งผลให้จีนออกมาประกาศว่าเสียใจอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจดังกล่าว และถูกบังคับให้ต้องดำเนินมาตรการตอบโต้ด้วยความจำเป็น

นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน เม.ย.ปรับขึ้น 0.3% และดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานปรับขึ้นเพียง 1.6% เมื่อเทียบรายปีในเดือน มี.ค. ในขณะที่เฟดตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.58-31.71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.66/31.67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (13/5 ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1232/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/5) ที่ระดับ 1.1227/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนีรายงานยอดส่งออกของเยอรมนีในเดือน มี.ค.ปรับขึ้น 1.5% เมื่อเทียบรายเดือน ส่วนยอดนำเข้าปรับขึ้น 0.4% ส่งผลให้ยอดเกินดุลการค้าของเยอรมนีปรับขึ้นสู่ 2.00 หมื่นล้านยูโร (2.245 หมื่นล้านดอลลาร์) ในเดือน มี.ค.โดยรัฐบาลเยอรมนีคาดว่าเศรษฐกิจอาจเติบโต 0.5% ในปี 2562 ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตของเยอรมนีได้รับแรงกดดันจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและสหภาพยุโรป (อียู), จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และจากความไม่แน่นอนเรื่อง Brexit ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1224-1.1245 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1230/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (13/5) เปิดตลาดที่ระดับ 109.72/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/5) ทีี่ระดับ 109.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนี Coindident Indicator ลดลง 0.9 จุด จากระดับเดือน ก.พ. แตะระดับ 99.6 เมื่อเทียบกับฐานปี 2558 ที่ระดับ 100 ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นย่ำแย่ลง ตอกย้ำมุมมองที่ว่า เศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.60-199.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.67/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ราคานำเข้าและส่งออกเดือน เม.ย. (14/5) ยอดค้าปลีกเดือน เม.ย. (15/5) ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน พ.ค.จากเฟดนิวยอร์ก (15/5) การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.(15/5) สต็อกสินค้าภาคธุรกิจเดือน มี.ค. (15/5) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการร่วมงานรายสัปดาห์ (16/5) ดัชนีการผลิตเดือน พ.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (16/5) ดัชนีนำเศรษฐกิจเดือน เม.ย. จาก Conference Board (17/5) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (17/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.90/-2.60 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.50/2.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ