ธนารักษ์ ชง กนพ. ไฟเขียว “เจซีเค อินเตอร์ฯ” ลงทุนเขต ศก.พิเศษนครพนม เล็งอัพสิทธิประโยชน์ “มุกดาหาร-หนองคาย” เทียบชั้นอีอีซี

ธนารักษ์ ชง กนพ. 17 พ.ค. ไฟเขียว “เจซีเค อินเตอร์ฯ” ลงทุนเขต ศก.พิเศษนครพนม เล็งอัพสิทธิประโยชน์ “มุกดาหาร-หนองคาย” เทียบชั้นอีอีซี หวังสร้างแรงจูงใจนักลงทุนมากขึ้น หลังเปิดประมูลหลายรอบยังไม่สำเร็จ ส่วน “ตราด” เตรียมปรับเงื่อนไขโครงการให้ “พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” ลงทุนพื้นที่ที่สร้างรายได้ได้ก่อน

นางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมธนารักษ์จะรายงานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) วันที่ 17 พ.ค.นี้ เกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินการเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ โดยขณะนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เนื้อที่ประมาณ 1,300 ไร่ มีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้ามาลงทุนแล้ว ซึ่งยื่นเข้ามาเพียงรายเดียว คือ บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการลงทุนเป็นอย่างดี และมีความเป็นมืออาชีพ โดยโครงการที่เสนอเป็นมิกซ์ยูส มีทั้งโรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์กีฬา และศูนย์กระจายสินค้า มูลค่าการลงทุนกว่า 1,600 ล้านบาท

“ทางเอกชนเสนอค่าเช่าและค่าธรรมเนียมสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท โดยเสนอที่ 187 ล้านบาท ซึ่งกรมจะเสนอให้ที่ประชุม กนพ.เห็นชอบการให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนรายดังกล่าว หลังจากนั้นก็สามารถส่งมอบพื้นที่และเริ่มดำเนินโครงการได้เลย เพราะไม่มีติดเรื่องการบุกรุก” นางสาวอมรรัตน์กล่าว

ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย และเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร รวมถึงอื่น ๆ ขณะนี้กำลังพิจารณาโครงสร้างสิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่นักลงทุนใหม่อีกรอบ หลังจากเปิดประมูลมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถหาตัวผู้ลงทุนได้ โดยจะเสนอ กนพ.ให้พิจารณาว่าควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เทียบเท่าโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้หรือไม่ เนื่องจากพื้นที่ที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ เป็นพื้นที่ที่นักลงทุนมองว่าลงทุนไม่คุ้มค่า ส่วนพื้นที่ที่ได้ผู้ลงทุนไปแล้ว ถือว่าเอกชนมองเห็นความคุ้มค่า จึงเข้ามาลงทุน ทั้งนี้หากผู้ที่ได้ลงทุนในพื้นที่อื่นไปแล้ว จะมาลงทุนในพื้นที่ที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ก็ได้ สามารถเข้ามายื่นประมูลแข่งขันได้

“ตอนนี้ทุกคนพูดถึงอีอีซีกันหมด ก็จะไปดู วันที่ 17 พ.ค.นี้ก็จะรายงานที่ประชุมด้วยว่า พื้นที่ที่เหลือนี้ ทุกคนขอสิทธิประโยชน์แบบอีอีซีหมด เราก็ต้องมาดูว่า เราให้อะไรบ้าง และอีอีซีให้อะไร มีข้อแตกต่างกันอย่างไร แล้วรัฐบาลจะรับข้อเสนอหรือไม่” นางสาวอมรรัตน์กล่าว

นางสาวอมรรัตน์กล่าวอีกว่า กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษตราด ซึ่งได้ตัวผู้ลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) จะไม่ได้รับการปรับสิทธิประโยชน์ให้ แต่จะมีการเสนอ กนพ.เห็นชอบตั้งคณะกรรมการกำกับสัญญา เพื่อพิจารณาเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงการและเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่เอกชนร้องขอมา โดยจะพิจารณาให้เอกชนคู่สัญญาสามารถลงทุนในส่วนที่หารายได้ได้ก่อน เช่น ตลาด เป็นต้น จากข้อเสนอเดิมที่จะลงทุนในส่วนที่เป็นพื้นที่สาธารณะก่อน

“แค่สลับพื้นที่ในการลงทุน ก็คือการปรับแผน จากเดิมลงทุนเป็นพวกปรับพื้นที่ ทำสวนสาธารณะ ก็ปรับเป็นให้ไปทำในพื้นที่ที่สร้างรายได้ได้ก่อน เช่น ทำตลาด เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้ภาครัฐยังได้ผลประโยชน์เท่าเดิม” นางสาวอมรรัตน์กล่าว

ก่อนหน้านี้ ในการเปิดขายซอง เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม มีผู้สนใจซื้อซองประมูล 5 ราย เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย มีผู้สนใจซื้อซองประมูล 4 ราย และเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร มีผู้สนใจซื้อซองประมูล 4 ราย