4 ปัจจัยหลักบ่งชี้เศรษฐกิจชะลอตัว

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ เช้านี้ที่ซอยอารีย์

โดย พงศ์นคร โภชากรณ์ [email protected]

ในปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 ต่อปี โดยครึ่งปีแรกขยายตัวได้สูงมาก แต่พอมาครึ่งปีหลังเกือบเป็นหนังคนละม้วน เพราะเศรษฐกิจกลับชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือต่ำกว่าระดับการเติบโตตามศักยภาพ (potential GDP growth) สาเหตุหลักของการชะลอตัว คือ สงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจรวมกันมโหฬารถึงร้อยละ 40 ของโลก ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีขนาดเพียงร้อยละ 0.5 ของโลกเท่านั้น

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เกือบทุกสำนักคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ราว ๆ ร้อยละ 4.0 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อน โดยให้เหตุผลว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวน่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 1-2 เดือนแรกของปีดูจะเป็นเช่นนั้น แต่หลังจากที่เครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนมีนาคมออกมา ทำให้เราเห็นภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ชัดมากขึ้นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ชะลอตัวอย่างแน่นอน ทุกสำนักจึงปรับโมเดลในการคาดการณ์ใหม่

โดยส่วนตัวผมคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 1 น่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.0-3.2 ต่อปีเท่านั้น มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผมคาดการณ์เช่นนั้น มาดูกันครับ

ปัจจัยที่ 1 ปริมาณการส่งออกสินค้าไตรมาส 1 ปี 2562 หดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบหลายปี สะท้อนให้เห็นผลกระทบทางลบของสงครามการค้า โดยการขึ้นกำแพงภาษีตอบโต้กันอย่างชัดเจนต่อการส่งออกของไทย การส่งออกที่ลดลงยังส่งผลเป็นลูกโซ่ไปยังการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบหดตัวลงร้อยละ -1.1 และ -5.2 ต่อปีตามลำดับ

ปัจจัยที่ 2 จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศไตรมาส 1 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 ต่อปี ชะลอตัวต่ำสุดในรอบหลายปี ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนร้อยละ -2.2 ต่อปี บวกกับจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซีย กลุ่มกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ก็ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวที่พึงตกกับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 ต่อปีเท่านั้น

ปัจจัยที่ 3 รายได้เกษตรกรหักผลของเงินเฟ้อแล้ว ไตรมาส 1 ปี 2562 หดตัวร้อยละ -0.7 ต่อปี เป็นการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน สาเหตุสำคัญมาจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ การที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริงลดลงหมายถึงกำลังซื้อของคนในระดับฐานรากจะลดลงไปด้วย

ปัจจัยที่ 4 ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขจัดผลของเงินเฟ้อแล้ว ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7 ต่อปี ต่ำสุดในรอบหลายปี เนื่องจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการนำเข้าชะลอตัวลงไปมาก และแม้ว่าการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศยังขยายตัวได้ แต่เริ่มเห็นสัญญาณการหดตัวในเดือนมีนาคมแล้ว

ปัจจัยที่ 5 สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากว่าที่คาดไว้เดิม การคาดการณ์ของหลายฝ่ายในช่วงต้นปีมองว่า หลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 และเริ่มดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 แต่ทุกอย่างกลับทอดยาวมาถึงไตรมาส 2

แม้ว่าปัจจัยที่ 1-4 จะมีควันหลงก้าวล้ำเข้ามาในไตรมาส 2 บ้าง แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 13,200 ล้านบาท เพื่อพยุงกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย และมาตรการทางภาษี 6 มาตรการ เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศแล้ว การรับรองผลการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือนพฤษภาคม จะเป็นจุดเริ่มต้นให้รัฐบาลชุดใหม่เดินหน้านโยบาย มาตรการ โครงการ และจัดสรรงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

ดังนั้น ผมยังมีความเชื่อมั่นลึก ๆ ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 น่าจะดีกว่าไตรมาส 1 แน่นอนครับ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!