‘แบงก์กสิกรไทย-ธนาคารโลก’ จ่อปรับประมาณการณ์ศก.ไทย เหตุสงครามการค้ารุนแรง – การเมืองไม่นิ่ง ฉุดลงทุนชะงัก

ธนาคารกสิกรไทย – ธนาคารโลก ระบุ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน และความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล ทำการลงทุนล่าช้าออกไป ล่าสุดเตรียมทบทวนจีดีพีปีนี้ใหม่

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากแนวโน้มของตลาดโลกที่ชะลอตัว จากสงครามการค้าที่รุนเเรงเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อภาพรวมการส่งออกของไทย รวมถึงการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ล่าช้า จากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล แม้การบริโภคในประเทศค่อยๆเติบโตขึ้น แต่ก็ยังมีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลตอบการเติบโตต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ธนาคารจึงมีโอกาสที่จะปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยลงจากเดิมที่คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 3.7% รวมถึงเป้าหมายการส่งออกปีนี้อีกครั้ง โดยจะติดตามการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/62 จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ( สศช.) ในวันที่ 21 พ.ค.นี้ เบื้องต้น ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/62 จะเติบโตประมาณ 3.2%

ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้ จากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่รุนแรงขึ้น ทั้งสองประเทศได้มีการตอบโต้ทางด้านภาษีกัน ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งฟื้นตัวมากสุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเริ่มแผ่วลง ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายปฏิรูปภาษี และ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ทั้งนี้ สงครามการค้าที่เกิดขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา โดยปรับตัวเเข็งค่าอยู่ที่ประมาณ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการที่นักลงทุนนำเงินเข้ามาพักเงินในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าสหรัฐอาจจะเพิ่มรายชื่อประเทศไทยเป็นกลุ่มประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงิน นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมองว่า สหรัฐไม่ขึ้นบัญชีประเทศไทย เนื่องจากเงินบาทยังเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่าเป็นอันดับที่ 4 เมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการแข็งค่าที่เกิดขึ้นไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย เพราะทำให้ผู้ส่งออกไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง

ด้านนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก  กล่าวว่า ธนาคารโลกยังคงประมาณการณ์จีดีพีไทยปีนี้อยู่ที่ 3.8% และปีหน้าที่ 3.9 % ซึ่งเป็นการเติบโตจากอุปสงค์ในประเทศ การลงทุนภาครัฐ และเอกชน แม้ว่าการส่งออกจะแผ่วลง รวมถึงความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจจะล่าช้าออกไป แต่เชื่อว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีอยู่จะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่อาจจะทำให้โครงการลงทุนใหม่ๆที่ต้องผ่านพิจารณาต้องถูกเลื่อนออกไป ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ทางด้านของธนาคารโลกจะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งในช่วงเดือนก.ค.นี้