“สรรพากร” สแกนธุรกิจ โอกาสสุดท้าย…บัญชีเดียว

ภาครัฐได้ส่งเสริมให้ธุรกิจทำ “บัญชีชุดเดียว” มาหลายปี โดยก่อนหน้านี้ได้มีการ “นิรโทษกรรมทางภาษี” ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปเกือบ 5 แสนราย อย่างไรก็ดีกรมสรรพากรยังพบว่า ผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ยังทำบัญชีไม่ถูกต้อง จึงออกพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา พ.ศ. 2562 เพื่อจูงใจอีกครั้ง

“เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากรย้ำว่า รอบนี้เป็นการให้โอกาสปรับปรุงตัว “เป็นคนดี” และ “ไม่ใช่การนิรโทษกรรม” เพราะยกเว้นให้แต่เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับอาญาแก่ผู้ที่มาลงทะเบียนเพื่อปรับปรุงงบการเงินให้ถูกต้อง และชำระภาษีนิติบุคคล รอบปี”59-61 ให้ครบถ้วน ภายใน 30 มิ.ย.นี้

โดยเปิดให้ลงทะเบียนมาตั้งแต่ 1 เม.ย. ผ่านไป 1 เดือน มีเอสเอ็มอีลงทะเบียนแล้ว 2.6 หมื่นราย ซึ่งช่วงเดือน พ.ค.นี้ เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีนิติบุคคลประจำปี รอบบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 61 หรือ ภ.ง.ด.50 ภายใน 30 พ.ค. และเมื่อพ้นจาก 30 มิ.ย.นี้ไปแล้ว กรมสรรพากรจะตรวจสอบงบการเงิน บัญชี และการชำระภาษีอย่างเข้มข้น

ล่าสุด กรมสรรพากรเปิดเผยถึงนโยบายการตรวจภาษีปีนี้ บนเวทีสัมมนา เรื่อง “เสี่ยงกว่ามั้ย… ถ้าไม่ใช้บัญชีเดียว” เมื่อ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา โดย “เกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์” รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมมีนโยบายแยกผู้เสียภาษีออกเป็น “กลุ่มดี” และ “กลุ่มเสี่ยง” เพื่อจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีที่ดี ส่วนกลุ่มเสี่ยงก็จะตรวจสอบเข้มข้นขึ้น ซึ่งจากที่กรมได้ประเมินสถานะผู้ประกอบการ แยกเป็น 3 กลุ่มกิจการ คือ กลุ่มซื้อมาขายไป กลุ่มการผลิต และกลุ่มบริการ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่าธุรกิจเหล่านี้มีรูปแบบวิธีการรับชำระเงิน ที่ใช้เงินสดเป็นจำนวนมาก สะท้อนการแสดงรายได้ที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริง

“กลุ่มธุรกิจที่มีการขายสินค้าหรือบริการไปยังผู้บริโภคโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น B to B หรือ B to C มีแนวโน้มของการที่จะหลบเลี่ยงรายได้ค่อนข้างสูง โดยใช้เงินสดเป็นจำนวนมาก เช่น อาจจะให้ลูกค้าจ่ายเป็นเงินสดผ่านมาทางพนักงานส่งเอกสาร จากนั้นก็จะนำเงินสดมารวมไว้แล้วค่อยโอนเข้าบัญชีเป็นก้อนเดียว รวมถึงผู้ประกอบการที่ไม่ใช้การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ห รืออีเพย์เมนต์ ที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน”

ขณะที่กรมสรรพากรใช้ระบบการวิเคราะห์ผู้ประกอบการรายกลุ่ม (data analytics) ซึ่งในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจบางกลุ่มใช้วิธีการ “ย่องบฯ” ที่หมายถึง การทำให้รายได้ออกไปนอกระบบ แล้วใส่รายจ่ายเท่าที่ต้องการเข้ามา เพื่อให้งบฯดูสมดุลในเรื่องอัตราส่วนทางการเงิน อาทิ กลุ่มธุรกิจบริการที่มีทรัพย์สินสูงกว่าปกติ มีพนักงานกินเงินเดือนสูงอยู่มาก เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบธุรกิจที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนออกจากค่ามาตรฐาน เรียกว่ากลุ่ม “outlier” เช่น ธุรกิจที่มีรายได้ต่ำ กำไรต่ำ หรือขาดทุนสะสม แต่มีสินค้าคงเหลือสูงกว่าปกติ และมีเงินกู้ยืมกรรมการที่สูงผิดปกติ เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมใช้ระบบ RBA (risk based audit system) ที่รวบรวมข้อมูลจากทุกทาง และจำแนกออกมาเป็นเกณฑ์ความเสี่ยง 151 เกณฑ์ เพื่อจัดอันดับคะแนนให้กับนิติบุคคลแต่ละราย โดยแต่ละปีอาจจะไม่ได้ใช้ทุกเกณฑ์ อย่างปี”62 ได้กำหนด 10 เกณฑ์ความเสี่ยง ที่ผู้ประกอบการควรระวัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับการยื่น ภ.ง.ด.50 รอบนี้ หรือ “10 โรคร้าย” ได้แก่ “ด้านสินทรัพย์” 1.ธุรกิจที่ใช้เงินสดเป็นหลัก 2.สินค้าคงเหลือไม่ถูกต้องอาจจะมากไปหรือน้อยไป 3.ไม่มีทรัพย์สิน หรือมีทรัพย์สินมากผิดปกติ เช่น กลุ่มกิจการโรงแรม

มีอาคารใหญ่โต หรือมีหลายอาคาร ต้องชำระค่าไฟฟ้าสูง แต่ปรากฏว่ามีรายได้ต่ำ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เป็นต้น “ด้านหนี้สินและทุน” 4.เงินกู้ยืมกรรมการมาก แต่ไม่สามารถชี้แจงได้ โดยเฉพาะมีการกู้ยืมเพิ่มขึ้นตลอด แต่ไม่มีการคืนเงินกู้ 5.ขาดทุนสะสมเป็นเวลานาน หรือบางกิจการขาดทุนจน “เกินทุน” ควรจะปิดกิจการ แต่กลับมีเงินให้กรรมการกู้ยืม

“สิ่งเหล่านี้ผมบอกได้เลยว่า เกิดจุดแรกจากไมนด์เซต (กรอบคิด) ของการใช้เงินสดในการทำธุรกรรมเป็นหลัก เพราะอาจจะคิดว่าการใช้เงินสดจะแก้ไขปัญหาในการที่กรมสรรพากรจะตรวจสอบเรื่องการแสดงรายได้ไม่ครบถ้วนได้ แต่คำตอบ คือ ไม่ใช่อย่างที่คิด”

ต่อมา “ด้านรายได้” 6.บันทึกรายได้ไม่ถูกต้อง โดยดูได้ว่ามีการออกใบกำกับภาษีครบทุกรายการขายสินค้าหรือไม่ ซึ่งหากครบ รายได้ก็ต้องถูกต้อง 7.บันทึกรายได้ไม่ครบถ้วน ซึ่งในทางภาษีไม่ได้ดูเฉพาะรายได้จากการขายสินค้าเท่านั้น แต่จะมีรายได้อื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การได้ประโยชน์จากการส่งเสริมการขาย อย่างกรณีดีลเลอร์ที่บริษัทพาไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น

สุดท้าย “ด้านค่าใช้จ่าย” 8.ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่รายได้ลดลง 9.มีค่าใช้จ่ายสูง ๆ เมื่อเทียบกับรายได้ โดยกรมมีระบบบาลานซ์สกอร์การ์ด ที่เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับกิจการอื่น ๆ ในประเภทกิจการเดียวกัน ณ รอบบัญชีเดียวกัน รวมถึงเปรียบเทียบพัฒนาการการเติบโตของกิจการช่วง 3 ปีย้อนหลัง ไม่ใช่เฉพาะแค่รายกิจการเท่านั้น และ 10.มีการสร้างค่าใช้จ่ายเท็จขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการจ่ายจริง

“10 โรคร้ายนี้ มีความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจ ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุด เพราะเป็นช่วงยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 จึงอยากให้ผู้ประกอบการกลับไปเช็กว่า ถ้ามีโรคร้ายโรคใดโรคหนึ่งถือว่าเป็นกลุ่มกิจการเสี่ยง ดังนั้น การยื่นงบฯปี 2561 ควรจะหยุดไว้ก่อน แล้วปรับปรุงแก้ไขงบฯให้ถูกต้อง แต่หยุดได้ไม่นาน เพราะต้องยื่นภายในสิ้น พ.ค.นี้”

ทั้งนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจสอบที่รุดหน้าไปมาก หากใครยังคิดหลบเลี่ยงอยู่ มองไปข้างหน้าคงจะหาที่ยืนได้ยากขึ้น ขณะที่การให้โอกาสของกรมสรรพากรครั้งนี้ อาจจะเป็น “โอกาสสุดท้าย” และเหลือเวลาไม่มากแล้ว